คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่ บ. ทำพินัยกรรม บ. มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่าง บ. กับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งนอกจากนี้ บ. ยังมีสิทธิในการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อันทำให้ บ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบสิทธิทั้งสองดังกล่าวเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของ บ.
การที่ บ. ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองโดยมีข้อความในข้อ 1 ยกบรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าให้โจทก์ทั้งสอง เห็นได้ว่า บ. มีเจตนาทำพินัยกรรมให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนรวมทั้งสิทธิในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทด้วย สิทธิตามที่กล่าวในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16155 ตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางบุญจันทร์ ศึกรัมย์ จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2536นางบุญจันทร์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2537 ให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทแก่นางบุญจันทร์ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1ในวันที่ 8 สิงหาคม 2538 นางบุญจันทร์ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมานางบุญจันทร์ได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้เข้าเป็นคู่ความแทน ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองได้นำสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1และพินัยกรรมไปเพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ เพราะจำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ประการแรกว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกามีใจความสำคัญว่า การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะมารดาโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร เป็นการโอนให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาและเพื่อเป็นการตอบแทนที่บุตรได้ให้การอุปการะเลี้ยงดู แม้จะเป็นการโอนให้โดยเสน่หาก็หาได้มีเจตนาใช้กลฉ้อฉลตามกฎหมายแต่อย่างใดทั้งขณะที่ทำนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาท นางบุญจันทร์พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และไม่มีเหตุทะเลาะกัน แม้นางบุญจันทร์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาท เพราะเหตุจำเลยที่ 1ประพฤติเนรคุณและศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทแก่นางบุญจันทร์ แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นทำนองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต แม้คดีที่นางบุญจันทร์ฟ้องจำเลยที่ 1ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ และศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทแก่นางบุญจันทร์ โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ที่จะไม่ต้องถูกเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นั้น นอกจากจำเลยที่ 2 จะต้องกระทำการโดยสุจริตหรืออีกนัยหนึ่ง มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นการให้นางบุญจันทร์เสียเปรียบแล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องรับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตหรืออีกนัยหนึ่งมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้นางบุญจันทร์ต้องเสียเปรียบตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบก็ตาม กรณีเพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว นิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ก็ย่อมถูกเพิกถอนเสียได้ตามมาตรา 237 ดังกล่าว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ได้รู้หรือไม่ว่าเป็นทางให้นางบุญจันทร์ต้องเสียเปรียบ เกี่ยวกับปัญหานี้โจทก์ทั้งสองได้อ้างอิงสำนวนคดีที่นางบุญจันทร์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ปรากฏว่านางบุญจันทร์ได้เบิกความไว้ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 มีใจความว่าได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) เมื่อ 10 ปีมาแล้ว โดยหวังจะให้จำเลยเลี้ยงดู แต่เมื่อเดือนห้าปีนี้จำเลยได้ด่านางบุญจันทร์ว่า เฒ่าก็เฒ่า เมื่อไรจะตาย จะไปตายที่ป่าช้าหรือไปตายที่วัดนางบุญจันทร์จึงต้องไปอาศัยอยู่กับนางสา (โจทก์ที่ 1 คดีนี้)หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยดูแล เวลาป่วยก็ไม่พาไปโรงพยาบาลไม่ส่งข้าวส่งน้ำ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อคำนึงถึงว่านางบุญจันทร์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณเป็นคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2536 กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าก่อนฟ้องคดีดังกล่าวนางบุญจันทร์กับจำเลยที่ 1 เคยมีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันมาแล้วอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้นางบุญจันทร์ซึ่งเคยอยู่อาศัยกับจำเลยที่ 1 ต้องไปอยู่อาศัยกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้เรื่องดังกล่าวอยู่แก่ใจเป็นอย่างดี ที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่าไม่เคยมีสาเหตุทะเลาะวิวาทหรือขัดใจกับนางบุญจันทร์มาก่อนจึงไม่สมเหตุผลให้น่าเชื่อถือ และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่นางบุญจันทร์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณเป็นคดีดังกล่าวเพียง 1 เดือนจากพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจะไม่ให้นางบุญจันทร์เรียกคืนโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้นางบุญจันทร์เสียเปรียบ ดังนี้ หากนางบุญจันทร์ไม่ถึงแก่ความตายในขณะคดีที่นางบุญจันทร์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 นางบุญจันทร์ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 237 ดังกล่าวข้างต้นหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ต้องถูกเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 237 ดังกล่าวดังนั้น เมื่อนางบุญจันทร์ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อมานางบุญจันทร์ถึงแก่ความตายจึงมีปัญหาว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองสมบูรณ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าขณะที่นางบุญจันทร์ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองนั้น ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ นางบุญจันทร์จึงไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่น ในปัญหานี้เมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามข้อความในข้อ 1 ที่ระบุว่า “ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ 1.1 ที่นาเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 90 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 16155 ตั้งอยู่ตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ขอยกให้นางสาแก้วแสน (โจทก์ที่ 1) กับนางเภา วงนคร (โจทก์ที่ 2) โดยตกลงยกให้นางสา แก้วแสน จำนวน 4 ไร่และยกให้นางเภา วงนครจำนวน 2 ไร่ 90 ตารางวา” แล้ว เห็นว่า สิทธิเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ ขณะที่นางบุญจันทร์ทำพินัยกรรมนั้น นางบุญจันทร์มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนางบุญจันทร์กับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนอกจากนี้นางบุญจันทร์ยังมีสิทธิในการฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อันทำให้นางบุญจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ สิทธิทั้งสองดังกล่าวเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นทรัพย์สินของนางบุญจันทร์ การที่นางบุญจันทร์ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองโดยมีข้อความในข้อ 1 ดังที่กล่าวมานั้น เห็นได้ว่านางบุญจันทร์มีเจตนาทำพินัยกรรมให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อน รวมทั้งสิทธิในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทด้วย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามที่ระบุในพินัยกรรม จึงถือไม่ได้ว่านางบุญจันทร์ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นตามที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกา พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองจึงมีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย สิทธิตามที่กล่าวในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237 ดังวินิจฉัยมา โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกามีใจความสำคัญว่าโจทก์ทั้งสองได้รู้เรื่องจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่ปี 2537 แต่มิได้ดำเนินการฟ้องร้อง คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 1 จะได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ปี 2537 โจทก์ที่ 1 เคยขอคัดคำพิพากษาในคดีระหว่างนางบุญจันทร์กับจำเลยที่ 1 ไปเพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัย โอนที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกา แต่เมื่อทนายโจทก์ทั้งสองถามติง โจทก์ที่ 1 ได้เบิกความใหม่เป็นว่า คดีที่นางบุญจันทร์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางบุญจันทร์ชนะคดี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในเดือนมกราคม 2540 โจทก์ที่ 1ได้ขอคัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัย เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ โดยเจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาโจทก์ที่ 1 ไม่ทราบเรื่องการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาก่อนและความจริงแล้วในปี 2537 โจทก์ที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ดังนี้ ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงต้องฟังว่า โจทก์ที่ 1 ได้รู้เรื่องจำเลยที่ 1ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม2540 คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นหลักฐานสนับสนุน กล่าวคือ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนนางบุญจันทร์โจทก์ ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการอ่านเป็นหลักฐานทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ไว้ด้วยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางบุญจันทร์ โจทก์ที่ 1 ได้นำคำพิพากษาดังกล่าวและพินัยกรรมไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัยแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องขอตรวจค้นและยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทไว้ ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินค่าคำขอตรวจค้นลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 และใบเสร็จรับเงินค่าคำขออายัดลงวันที่ 4 เมษายน 2540 จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองรู้เรื่องจำเลยที่ 1ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาอุทุมพรพิสัย เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่โจทก์ทั้งสองรู้เรื่องจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ (โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540) ยังไม่พ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ต้นเหตุ อันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 คดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share