คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6242/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษจำคุกกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 15 ปีเมื่อลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วคงให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน กับให้บวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 33 ริบของกลางทั้งหมดเว้นแต่ธนบัตรฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับ และฉบับละ 20 บาท2 ฉบับ ที่ใช้ล่อซื้อให้คืนแก่เจ้าของ กับให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4666/2540 และที่ 251/2541 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 คดีนี้ บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3993/2540ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 คดีนี้ด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและบวกโทษ ส่วนจำเลยที่ 2ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งและลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 คงให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุก6 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่4666/2540 ของศาลนี้เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 คดีนี้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงให้จำคุก 7 ปี6 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3993/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 12 เดือน ริบของกลางทั้งหมดเว้นแต่ธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อให้คืนเจ้าของ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 5 ปีและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปีรวมจำคุกคนละ 10 ปีเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 อีกกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 15 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 2หนึ่งในสี่แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 คงให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน กับให้บวกโทษของจำเลยทั้งสองที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ด้วยศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ซึ่งในการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น จะต้องแยกพิจารณาโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดในแต่ละกระทงโดยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนที่โจทก์ขอให้บวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีนี้มาประกอบการพิจารณาด้วยเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาโดยให้ลดโทษจำคุกลงอีกนั้น จำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมายอย่างไรบ้างแม้ว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1จะลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละกระทงในอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในการลงโทษจำเลยทั้งสองอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา ก็ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share