คำสั่งคำร้องที่ 2469/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาต ให้จำเลยยื่นฎีกา ต่อมาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งคำร้องว่า จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการ ลงโทษไว้ อันเป็นการฎีกาดุลพินิจของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยในความผิดตามฟ้องโจทก์ ต่ำมากอยู่แล้ว กรณีก็ยังไม่อาจรอการลงโทษจำเลยได้ เนื่องจาก โทษที่จำเลยจะได้รับเกินกว่า 2 ปี ไป 1 เดือนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คดีจึงไม่มีเหตุ ให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลย ให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นสั่งว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิจารณาคดีนี้ มีคำสั่งไม่รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลย จึงมีคำสั่ง ไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ชอบ โปรดมีคำสั่งให้รับรองฎีกาของจำเลยและรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 41)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา 90และผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำคุก 6 ปี และลงโทษฐานหลบหนี ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย มีกำหนด 3 ปี 2 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะแล้ว ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 4 ปี ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสองที่แก้ไขแล้ว จำคุก 2 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 2 ปี 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 30 แผ่นที่ 2)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 41)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกรรม ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์จึงไม่มีเหตุให้รับรองฎีกา ถือว่าศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำสั่งคำร้องของ จำเลย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยจึงยังเป็นการไม่ชอบ ให้ยกคำสั่ง ไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่เพื่อ มีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกาจำเลยต่อไป

Share