แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 66 ไม่จำเป็นต้องระบุข้อความที่ว่า “ซึ่งไม่ใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นหนังสือ” ไว้ในฟ้อง หรือคำนวณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายไว้ในฟ้อง ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว
โจทก์ระบุในฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ซึ่งตรงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91แม้โจทก์มิได้ระบุมาตราดังกล่าวไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณาได้ เพราะเป็นบทมาตราที่ยกขึ้นปรับเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมซึ่งมิใช่บทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติถึงฐานความผิดหรือองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดที่จะลงโทษจำเลยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)บัญญัติให้โจทก์ต้องอ้างถึง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 0.71 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยได้จำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 100 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7,8, 15, 66, 97, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยและคืนธนบัตร 100 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง(ที่ถูกมาตรา 102 ด้วย) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 15 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตร 100 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุได้มีสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ดจากจำเลยโดยใช้ธนบัตรฉบับละ 100 บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ถ่ายสำเนาและลงรายงานประจำวันไว้ แล้วสายลับได้มอบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าตรวจค้นจำเลยพบเมทแอมเฟตามีนอีก 7 เม็ด พร้อมธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจึงจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตคดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ระบุชัดว่า”จำเลยได้บังอาจมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ข้อ 2 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับดังกล่าว ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 1ลำดับที่ 20 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบประกาศนี้แล้ว จำนวน 8 เม็ด น้ำหนักรวม 0.71 กรัม ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522” และ “จำเลยได้บังอาจจำหน่าย โดยการขายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 100 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522” จึงเป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หาใช่ฟ้องตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องระบุข้อความที่ว่า “ซึ่งไม่ใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นหนังสือ” ไว้ในฟ้อง หรือคำนวณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายไว้ในฟ้อง ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว นอกจากนี้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ยังได้ระบุความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในมาตรา 66 เช่นเดียวกับความผิดฐานจำหน่าย ดังนั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสองฐานความผิดจึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ส่วนที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น ข้อนี้เห็นว่า โจทก์ระบุในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ซึ่งตรงกับ มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้โจทก์มิได้ระบุมาตราดังกล่าวไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณาได้ เพราะเป็นบทมาตราที่ยกขึ้นปรับเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมซึ่งมิใช่บทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติถึงฐานความผิดหรือองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดที่จะลงโทษจำเลยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) บัญญัติให้โจทก์ต้องอ้างถึง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน