แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยว่าจ้างโจทก์รักษาความปลอดภัยภายในบริษัทจำเลยต่อมาจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ 165,850 บาท ในช่วงดังกล่าวพนักงานของโจทก์กระทำละเมิดโดยขับรถยนต์โตโยต้าของจำเลยชนรถยนต์เบนซ์ภายในบริษัทจำเลย หลังจากเกิดอุบัติเหตุ พนักงานของโจทก์ได้แจ้งเรื่องให้โจทก์จำเลยทราบ ผู้แทนโจทก์ตกลงยินยอมรับผิดชอบในค่าเสียหายของรถยนต์ที่ถูกชน สำหรับรถยนต์โตโยต้าผู้แทนโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะยินยอมรับเป็นกรรมสิทธิ์ในราคา470,000 บาท ดังนั้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการทำละเมิดของพนักงานของโจทก์ ซึ่งผู้แทนโจทก์ยอมรับผิดชอบโจทก์จะว่าไม่มีผลผูกพันโจทก์หาได้ไม่ กรณีมิใช่เป็นเรื่องจำเลยแจ้งความประสงค์แห่งข้อเสนอเพียงฝ่ายเดียวให้โจทก์ชดใช้จำเลยจึงนำค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์โตโยต้ามาหักกลบลบหนี้ค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างให้โจทก์รักษาความปลอดภัยดูแลทรัพย์สินของจำเลย ตกลงชำระค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ82,925 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนมีกำหนด3 เดือน โจทก์จัดการรักษาความปลอดภัยให้จำเลยตามสัญญาแล้วแต่จำเลยไม่ชำระค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ 2540 และมีนาคม 2540ให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 165,850 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 166,565.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 165,850 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ลูกจ้างของโจทก์ทำความเสียหายแก่จำเลยโดยขับรถยนต์ของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นและโจทก์ยินยอมที่จะชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลย ได้ตกลงให้โจทก์หรือจำเลยขายรถคันดังกล่าวโดยเร็วในราคา 470,000 บาท หากขายไม่ได้ราคาตามที่ตกลงกัน โจทก์จะชดใช้ส่วนที่ขาดแก่จำเลยเต็มตามจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ต่อมาจำเลยขายรถได้ราคา320,000 บาท โจทก์จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย 2 เดือน รวมเป็นเงินทั้งหมด 161,358 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระจำเลยจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยและขอหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าวกับเงินค่าจ้างรักษาความปลอดภัยของเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2540 ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 165,850 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 715.65 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน14,920 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์รักษาความปลอดภัยแห่งทรัพย์สินภายในบริษัทจำเลย ต่อมาจำเลยค้างชำระเงินค่าจ้างโจทก์จำนวน 165,850 บาท ในช่วงเวลาดังกล่าว นายอาวุธ เครือสุ่ม พนักงานรักษาความปลอดภัยของโจทก์กระทำละเมิดโดยขับรถยนต์โตโยต้าชนรถยนต์เบนซ์จำนวน 3 คันภายในบริษัทจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียหาย ปรากฏรายละเอียดตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยมีสิทธินำค่าเสียหายของรถยนต์โตโยต้าพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน 150,930 บาท มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระจำนวน 165,850 บาท ได้หรือไม่ ได้ความตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุ พนักงานของโจทก์ได้แจ้งเรื่องให้โจทก์จำเลยทราบตามหน้าที่ นายประยูร สากุลผู้แทนโจทก์ตกลงยินยอมรับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายของรถยนต์ที่ถูกชนทั้ง 3 คัน สำหรับรถยนต์โตโยต้าผู้แทนโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยว่าจะยินยอมรับรถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ในราคา 470,000 บาททั้งนี้ทางผู้แทนโจทก์จะได้แจ้งให้โจทก์ทราบภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2539เห็นว่า ความเสียหายตามบันทึกดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการทำละเมิดของพนักงานของโจทก์ ซึ่งผู้แทนโจทก์ยอมรับผิดชอบเช่นนี้ โจทก์จะว่าไม่มีผลผูกพันโจทก์หาได้ไม่ กรณีมิใช่เป็นเรื่องจำเลยแจ้งความประสงค์แห่งข้อเสนอเพียงฝ่ายเดียวให้โจทก์ชดใช้ดังโจทก์ฎีกาอ้าง การกระทำของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อบรรเทาความขัดแย้งต่อกัน อันเป็นผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจการค้าหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป แม้จะได้ความตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ แต่การที่ผู้แทนโจทก์ยินยอมรับรถยนต์โตโยต้าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในราคา 470,000 บาทย่อมมีผลผูกพันโจทก์อันเป็นเหตุให้จำเลยนำค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์โตโยต้ามาหักกลบลบหนี้ค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระได้”
พิพากษายืน