คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5713/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 วรรคสาม จำเลยที่ 3ผู้ขอคืนของกลางมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่า จำเลยที่ 3ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินของกลางดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงจะไม่ริบของกลาง แต่จำเลยที่ 3นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของของกลาง และไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดเท่านั้นโดยไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายดังกล่าวได้ จึงไม่เพียงพอตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวและข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโทรศัพท์มือถือและรถยนต์กระบะเป็นเครื่องมือและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมีการประกาศหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันตามกฎหมายแล้ว จึงต้องริบของกลางดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 3,800 เม็ด น้ำหนัก341.7 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 103.54 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวให้แก่สายลับและร้อยตำรวจโทชูตระกูล ยศมาดีผู้ปลอมเป็นผู้ล่อซื้อ ในราคา 152,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน3,800 เม็ด ดังกล่าว รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน2 พ – 1583 กรุงเทพมหานคร และโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโนเกียหมายเลข 01-6106094 เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,83, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องว่า รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน 2 พ – 1583 กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คันและโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 01-6106094 จำนวน1 เครื่อง ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ยานพาหนะที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด โดยใช้เป็นพาหนะและเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารในการซื้อขายและนำยาเสพติดให้โทษตามฟ้องไปส่งมอบให้แก่ผู้ล่อซื้อและใช้ในการวางแผนส่งมอบยาเสพติดให้โทษให้แก่ผู้ล่อซื้อ ขอให้ริบของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30, 31

พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันแล้ว

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1ขอแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้คืนรถยนต์กระบะและโทรศัพท์มือถือของกลางแก่จำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง(ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง), 66 วรรคสอง, 102พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายบทเดียวกัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 25 ปีริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และริบโทรศัพท์มือถือและรถยนต์กระบะของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบโทรศัพท์มือถือและรถยนต์กระบะของกลาง แต่ให้คืนแก่ผู้ร้อง (คือจำเลยที่ 3 ผู้คัดค้าน) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 3,800 เม็ด หนักรวม 341.7 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 103.54 กรัม “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าศาลมีอำนาจริบโทรศัพท์มือถือและรถยนต์กระบะของกลางหรือไม่โจทก์นำสืบว่าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดคดีนี้ โดยรถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางเพราะมีการให้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกันได้สะดวก เห็นว่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสาม จำเลยที่ 3 ผู้ขอคืนของกลางดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินของกลางดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงจะไม่ริบของกลางดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของของกลางดังกล่าวและไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดเท่านั้นโดยไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายดังกล่าวได้ จึงไม่เพียงพอตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว และข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า สายลับทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำเลยที่ 3 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และอยู่บ้านเดียวกัน อีกทั้งร้อยตำรวจโทชูตระกูลไปติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ก็อยู่ด้วย และจำเลยที่ 3 ยังขับรถยนต์กระบะไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 2เพื่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ร้อยตำรวจโทชูตระกูล เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยมีพฤติการณ์ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1จะกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินของกลางดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสามเมื่อของกลางดังกล่าวเป็นเครื่องมือและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันตามกฎหมายแล้ว จึงต้องริบของกลางดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ริบของกลางดังกล่าว แต่ให้คืนจำเลยที่ 3 ผู้คัดค้านนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share