แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะในการบรรทุกยางพาราหลบหนีอันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป เป็นการบรรยายฟ้องเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อเพิ่มโทษหากผู้กระทำผิดใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดด้วย ดังนั้น การที่จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการบรรทุกยางพาราหลบหนี ก็มิได้หมายความว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักยางพาราแผ่นจำนวน206 แผ่นราคา 5,988 บาท ของนางวิภาภรณ์หรือวิภาพร เอ้งฉ้วนผู้เสียหายไปโดยทุจริตโดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปเจ้าพนักงานพบจำเลยทั้งสอง นายสมศักดิ์ แซ่โห้วและนายวรรณโชคนาเลื่อน กับพวกอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันครอบครองยางพาราแผ่นทั้งหมดของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าว ในวันเดียวกันเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 กับนายสมศักดิ์ แซ่โห้วได้ เจ้าพนักงานติดตามยึดยางพาราแผ่นดังกล่าวและรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนได้ นำส่งพนักงานสอบสวนเป็นของกลางจำเลยที่ 2 กับนายวรรณโชค นาเลื่อน เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันเป็นคนร้ายลักยางพาราแผ่นของกลางของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการบรรทุกยางพาราแผ่นของกลางหลบหนีอันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป หรือมิฉะนั้นระหว่างหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ถึงวันเวลาที่เจ้าพนักงานพบยางพาราแผ่นของกลางอยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าว วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งยางพาราแผ่นของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ เหตุรับของโจรเกิดที่ตำบลแหลมสอม อำเภอปะเหลียม จังหวัดตรัง ผู้เสียหายรับยางพาราแผ่นของกลางคืนไปแล้ว ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางเจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง)ประกอบด้วย มาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 9 เดือนสำหรับข้อหารับของโจรให้ยก ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น เห็นว่า รถจักรยานยนต์เพียงใช้สะดวกในการไปมาเท่านั้น มิใช่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยตรง จึงไม่ริบ ให้ยกคำขอ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการบรรทุกยางพาราหลบหนีอันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป เป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 335 โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ การที่จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการบรรทุกยางพาราหลบหนีก็มิได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9