แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 อัตราโทษสูงสุดที่จะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ส่วนมาตรา 162อัตราโทษสูงสุดที่จะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุก 4 ปี 8 เดือน อายุความฟ้องคดีอาญาดังกล่าวจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 95(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2527 เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงกล่าวคือ จำเลยได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินปลอมข้อความในคำขอโอนมรดกของนางแผ้ว กรลักษณ์ ผู้จัดการมรดก ของนางสาวผกา ศรีวณิช โดยเพิ่มเติมว่า การโอนมรดกรายนี้ รวมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นรวม 7 คูหา เลขที่ 426, 428, 430, 432, 436 และ 438 ซึ่งเจ้าพนักงานทราบดีอยู่แล้วว่า นางสาวผกามิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตกรอกบันทึกข้อความอันเป็นเท็จและปลอมเอกสาร ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหลงเชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของนางแผ้ว ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2527 เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำผิดต่อกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ โดยจำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินทราบดีว่าการจดทะเบียนรับโอนมรดกเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย แต่จำเลยยังร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่นางแผ้วได้รับมรดกมาจากนางสาวผกาให้แก่จำเลยเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนการยกให้ที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยจนเสร็จสิ้น และในวันเดียวกันนั้น จำเลยทราบดีว่าการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย จำเลยยังนำเอกสารเท็จและปลอมมาใช้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยได้รับมาโอนให้แก่เด็กชายพงษ์เผดิม กรลักษณ์ และเด็กชายเสริมเผด็จ กรลักษณ์ ซึ่งเป็นบุตรของตนโดยเสน่หา เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงจดทะเบียนดำเนินการให้ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162, 90, 86, 83
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์ฟ้องจำเลยร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินปลอมข้อความในคำขอโอนมรดกของนางแผ้วกรลักษณ์ ผู้จัดการมรดกของนางสาวผกา ศรีวณิช โดยเพิ่มเติมข้อความว่า “การโอนมรดกรายนี้รวมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นรวม 7 คูหา ซึ่งเจ้าพนักงานทราบดีอยู่แล้วว่า นางสาวผกามิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์” การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรอกข้อความอันเป็นเท็จและปลอมเอกสาร ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหลงเชื่อและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของนางแผ้ว และจำเลยยังร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่นางแผ้วรับมรดกมาให้แก่จำเลยและจำเลยยังใช้เอกสารปลอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อโอนที่ดินต่อไปอีก และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161 และ 162 ซึ่งตามมาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงสิบปี มาตรา 161 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและมาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจร่วมกระทำกับเจ้าพนักงานในลักษณะตัวการร่วมได้ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นอกจากนี้ตามฟ้องของโจทก์ยังระบุมาตรา 86 ไว้ด้วยจึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะผู้สนับสนุนด้วย เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 157 และ 161 อัตราโทษสูงสุดที่จะลงโทษจำเลยได้เพียง 6 ปี 8 เดือน ส่วนมาตรา 162 อัตราโทษสูงสุดที่จะลงโทษจำเลยได้เพียง 4 ปี 8 เดือน ดังนั้นอายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) กำหนดอายุความไว้ 10 ปีเมื่อเหตุคดีนี้เกิดระหว่างวันที่ 27 ถึง 28 ธันวาคม 2527 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2542 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน