คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขายที่ดินและอาคารที่โจทก์ให้บุคคลอื่นเช่า ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการอันเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)พ.ศ. 2534 ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2540 โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 24927 พร้อมทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 3 คูหาให้แก่บริษัทเชียงรายสินธานี เป็นเงิน 13,500,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินภาษีได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์ทราบตามหนังสือที่ 8570090/6/100031ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 และ ภ.ง.ด.12, ค.22 (ที่ถูกคือ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 8570091/1/100314) โดยให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 1,450,102 บาท และค่าปรับ (ที่ถูกคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ประจำปีภาษี 2540 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีก 807 บาท โดยเหตุที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่เจ้าพนักงานประเมิน จึงได้ยื่นอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 449,046บาท เหตุผลที่โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ โจทก์ได้ถือครองมาเป็นเวลา 44 ปี ส่วนอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 3 คูหา โจทก์ก็ถือครองมาเป็นเวลา 7 ปี โดยการรับมรดกจากนางศรีนวลมารดาของโจทก์ ทั้งโจทก์และบริวารได้ถือครองในลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยตลอดมา ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนาไปตามระบบของทางราชการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการสอนหนังสือ แต่ความจริงโจทก์และบุคคลซึ่งเป็นบริวารของโจทก์บางคนยังคงอาศัยอยู่ ณ อาคาร 3 คูหาขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีธุรกิจเฉพาะประจำจังหวัดเชียงรายจำนวน449,046 บาท

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้นำตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา พร้อมที่ดินอันเป็นที่ตั้งของตึกแถวจำนวน 51 ตารางวา ออกให้นายวีระศักดิ์เลาหะวีร์ เช่าเป็นเวลา 14 ปีเศษ ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2540โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 24927 ไปพร้อมตึกแถวดังกล่าวแม้ว่าในวันเดียวกันโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่ากับนายวีระศักดิ์ เลาหะวีร์ กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)พ.ศ. 2534 จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 24927เลขที่ดิน 108 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 3 งาน 13 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 38 และเป็นเจ้าของตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 51 ตารางวา ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2535 โจทก์ได้ให้นายวีระศักดิ์ เลาหะวีร์ เช่าตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา รวมเนื้อที่ 204 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 24927มีกำหนด 14 ปี 4 เดือน โดยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินและเช่าอาคารตึกแถวเอกสารหมาย ล.2แผ่นที่ 29 ถึง 34 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2540 โจทก์ได้จดทะเบียนยกเลิกการเช่าดังกล่าวแล้วขายที่ดินทั้งแปลงพร้อมอาคารตึกแถว3 คูหา ให้บริษัทเชียงรายสินธานี จำกัด ไปเป็นเงิน 13,500,000 บาทเจ้าพนักงานประเมินภาษีได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน1,450,102 ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เอกสารหมายล.2 แผ่นที่ 65 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่การประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้ราคาซื้อขายที่ดินทั้งแปลงและอาคารตึกแถวเป็นฐานในการคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง จึงปรับปรุงการคำนวณตามการประเมินใหม่ โดยคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากราคาซื้อขายที่ดินและตึกแถวเฉพาะส่วนที่ให้เช่าเท่านั้น ทั้งลดเบี้ยปรับให้อีกร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย รวมเรียกเก็บทั้งสิ้นเป็นเงิน 449,046 บาทตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินและสัญญาเช่าตึกแถวเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 29ถึง 34 โจทก์ให้เช่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวเป็นระยะเวลานานถึง14 ปีเศษ และผู้เช่าต้องชำระเงินกินเปล่าให้โจทก์ตลอดอายุสัญญาเช่าอีกเป็นเงินถึง 1,800,000 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว แม้นายบุญเลิศพรหมไชยวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเบิกความว่า การเช่าระหว่างโจทก์กับนายวีระศักดิ์ เลาหะวีร์ ได้มีการบอกเลิกก่อนที่จะมีการขายที่ดินก่อนล่วงหน้า 4 เดือนแล้ว แต่ปรากฏจากสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 38 ว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเลิกการเช่ากับนายวีระศักดิ์ และขายที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงพร้อมอาคารตึกแถวดังกล่าวในวันเดียวกันคือวันที่ 23มิถุนายน 2540 ดังนั้น การที่โจทก์ขายที่ดินและอาคารตึกแถวที่โจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการอันเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 การประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วเมื่อโจทก์อุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่ได้ปรับปรุงการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะใหม่โดยเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับที่ดินและอาคารตึกแถวที่ให้เช่าเท่านั้นคิดเป็นเงินภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น449,046 บาท โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารตึกแถวตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share