คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 391/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลยที่ 1 แทนโทษจำคุกศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงเป็นคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรีซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287,83, 33 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 (ที่ถูก มาตรา 287(1)) ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 4,000 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 2,000 บาทพิเคราะห์พฤติการณ์จำเลยทั้งสองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อนแล้ว ยังไม่หลาบจำมากระทำความผิดครั้งนี้อีกโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษให้แต่เห็นควรให้เปลี่ยนโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นกักขัง 1 เดือน แทนโทษจำคุก ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน อีกทั้งเป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 2ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปีและให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลยที่ 1แทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรีซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ไม่ได้ ดังนั้นที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share