คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง ฯ มาตรา 72 จะบัญญัติให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้นตามสมควร เมื่อทางรถไฟผ่านถนนสำคัญเสมอระดับก็ตาม แต่การทำเครื่องปิดกั้นถนนนั้นจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะส่วนที่ทางรถไฟตัดกับถนนนั้นเป็นแห่ง ๆ ไป มิใช่ต้องทำทุกแห่งที่ทางรถไฟตัดกับถนน
สถานที่เกิดหตุอยู่นอกเมือง นาน ๆ จะมีรถยนต์แล่นผ่านสองข้างทางรถไฟเป็นป่าโปร่ง มองไปทั้งสองข้างทางรถไฟและถนนจะเห็นกันได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำเครื่องปิดกั้นถนน ก่อนถึงทางรถไฟ 300 เมตร มีป้ายริมถนนบอกว่ามีทางรถไฟ เมื่อเข้ามาใกล้ 150 เมตรมีป้ายบอกอีกว่าข้างหน้ามีรถไฟตัดผ่านถนน และก่อนถึงทางรถไฟ 5 เมตร มีป้ายสัญญาณ “หยุด”การที่รถยนต์ของฝ่ายจำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หยุดตามเครื่องหมายการจราจรไปชนรถไฟของโจทก์ซึ่งยาวเป็นขบวนและวิ่งมาตามรางนั้น เป็นความประมาทอย่างร้ายแรงฝ่ายเดียว
การซ่อมทรัพย์สินที่เสียหายเป็นงานตามหน้าที่ที่โจทก์จะต้องจัดคนของโจทก์ไปควบคุม มิได้จ้างบุคคลอื่นเป็นพิเศษ ถือไม่ได้ว่าค่าควบคุม 25 เปอร์เซ็นต์ ของค่าของและค่าแรงงานที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการละเมิด
ค่าเบี้ยเลี้ยงคือเงินที่โจทก์จ่ายให้เป็นค่าที่พักและอาหารประจำวันแก่คนของโจทก์ในการออกไปทำงานนอกสถานที่ทำงานประจำตามระเบียบของโจทก์ เมื่อจำเลยกระทำละเมิด โจทก์ต้องส่งพนักงานและกรรมกรออกไปทำงานนอกสถานที่ ค่าเบี้ยเลี้ยงจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเพื่อทำให้ทรัพย์สินกลับคืนดี แต่ค่าอาหารก็เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงนั่นเอง แม้โจทก์จะจ่ายไปมากกว่าค่าเบี้ยเลี้ยงจะมาคิดซ้ำซ้อนกับค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายตามระเบียบไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแสวง อินทร์อ่อน ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศรับผู้โดยสารจากกรุงเทพมหานครจะไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำสั่งและในกิจการของจำเลยทั้งสามด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอความเร็วเมื่อแล่นผ่านป้ายบอกเครื่องหมายให้ระวังรถไฟ และไม่หยุดรถเมื่อแล่นมาถึงป้ายสัญญาจราจรให้หยุดรถ แต่กลับขับรถเข้าไปชนขบวนรถไฟของโจทก์ เป็นเหตุให้รถไฟตกรางทั้งขบวน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน๒๑๗,๓๐๒.๑๕ บาท หลังเกิดเหตุนายแสวงหลบหนี จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน ๒๓๓,๕๙๙.๘๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๒๑๙,๓๐๒.๑๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายแสวง อินทร์อ่อน มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ที่ ๓ จำเลยที่ ๓ มิได้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เหตุที่รถชนกันมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายแสวง หากเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์และคนขับรถไฟของโจทก์ คือขับรถไฟด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากำหนดโดยมิได้ส่งสัญญาณหยุด ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าตรงที่เกิดเหตุไม่มีสัญญาณไฟและเครื่องกั้นถนน ขบวนรถไฟของโจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๒ ใน ๓ ส่วนเป็นเงิน ๗๔,๔๙๓.๘๑ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ตุลาคม ๒๕๒๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์๘๗,๖๐๖.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์มิได้ทำเครื่องปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่านนั้นมิได้เป็นความประมาทของโจทก์ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถยนต์ของจำเลยฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้นตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.๒๔๖๔ มาตรา ๗๒ บัญญัติว่า “เมื่อทางรถไฟผ่านถนนสำคัญเสมอระดับ…ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้นตามควรแก่การ” และมาตรา ๗๓ บัญญัติว่า”เมื่อถนนที่จะต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับให้ทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักให้แจ้งบนทางและถนนนั้นเพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน” ศาลฎีกาเห็นว่า ถนนใดแม้จะเป็นถนนสำคัญแต่การต้องทำเครื่องปิดกั้นถนนนั้นจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะส่วนที่ทางรถไฟตัดกับถนนนั้นเป็นแห่ง ๆ ไป มิใช่ต้องทำทุกแห่งที่ทางรถไฟตัดกับถนน ได้ความจากร้อยตำรวจตรีสนิท ชัยประพันธ์พนักงานสอบสวนและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า ถนนที่เกิดเหตุอยู่นอกเมือง นาน ๆ จะมีรถยนต์วิ่งสักคันหนึ่งสองข้างทางรถไฟเป็นป่าโปร่ง ตามภาพถ่ายรถไฟของโจทก์ที่ตกรางและถนนที่มีป้ายสัญญาณเตือนบริเวณสองข้างทางรถไฟและถนนมีหญ้าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่สูงและมีไม้ยืนต้นสูงประปราย มองไปทั้งสองข้างทางรถไฟและถนนจะเห็นกันได้ง่าย นายเทศ ราชสันเทียะ พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งอาณาบาลมีหน้าที่สอบสวนในท้องที่เกิดเหตุเบิกความว่า พยานมาทำงานในหน้าที่นี้มา ๔ ปีแล้ว เพิ่งมีเหตุตรงที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นว่านายเทศมีหน้าที่รับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุมาหลายปี จึงมีน้ำหนักรับฟังได้เป็นอย่างดี ที่นายทวีป ธานีรัตน์ คนขับรถไฟของโจทก์เบิกความว่า ป้ายจำกัดความเร็ว ๒๐ กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ปักมานาน ๕ ปี เหตุที่ปักเนื่องจากก่อนนั้นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนั้น นายทวีปขับรถไฟสายนี้ทุก ๔๕ วัน จะผ่านไปกลับ ๑ เที่ยว และหลังจากปักป้ายจำกัดความเร็วแล้วนายทวีปมิได้มาเบิกความว่ายังมีอุบัติเหตุบ่อยครั้งแต่อย่างใดฉะนั้นโจทก์จึงยังไม่จำเป็นต้องทำเครื่องปิดกั้นถนน ก่อนถึงทางรถไฟ ๓๐๐ เมตร มีป้ายริมถนนบอกว่ามีทางรถไฟ เมื่อเข้ามาใกล้ ๑๕๐ เมตร มีป้ายเครื่องหมายบอกอีกว่าข้างหน้ามีรถไฟตัดผ่านถนนและก่อนถึงทางรถไฟ ๕ เมตร มีป้ายสัญญาณ “หยุด” การที่รถยนต์ของฝ่ายจำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หยุดตามเครื่องหมายการจราจรไปชนรถไฟของโจทก์ซึ่งยาวเป็นขบวน และวิ่งมาตามรางตามปกตินั้นนับว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงฝ่ายเดียว จะอ้างว่าโจทก์มิได้มีเครื่องปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่านหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยรับผิดสองในสามส่วนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต่อไปโจทก์ฏีกาว่า ค่าควบคุม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ของค่าของและค่าแรงงานค่าอาหาร และค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเพราะการละเมิดของจำเลย จำเลยต้องรับผิดนั้น ค่าควบคุมโจทก์นำสืบว่าคิดตามระเบียบของโจทก์แต่มิได้นำระเบียบดังกล่าวมาแสดงทั้งมิได้นำสืบว่าระเบียบนั้นมีวิธีการหรือหลักการในการคิดคำนวณอย่างไรจึงได้ผลออกมาเป็น๒๕ เปอร์เซนต์ ดังกล่าว การซ่อมทรัพย์สินที่เสียหายเป็นงานตามหน้าที่อยู่แล้วที่โจทก์จะต้องจัดคนของโจทก์ไปควบคุม มิได้จ้างบุคคลอื่นเป็นพิเศษ จึงถือไม่ได้ว่ารายการนี้เป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการละเมิด ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยงคือเงินที่จ่ายให้เป็นค่าที่พักและอาหารประจำวัน ในการที่ออกไปทำงานนอกสถานที่ทำงานประจำซึ่งโจทก์คำนวณเหมาะสมแล้ว จึงได้วางอัตราเป็นระเบียบไว้ เมื่อจำเลยกระทำละเมิด โจทก์ต้องส่งพนักงานรถไฟและกรรมการออกไปทำงานนอกสถานที่ ต้องเสียเงินค่าอาหารดังกล่าว ค่าเบี้ยเลี้ยงจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเพื่อทำให้ทรัพย์สินกลับคืนดี จำเลยต้องรับผิด แต่ค่าอาหารนั้นก็เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงนั่นเอง แม้โจทก์จะจ่ายไปมากกว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเท่าใดจะมาคิดซ้ำซ้อนกับค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายตามระเบียบไม่ได้ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์๑๘๓,๐๕๗.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share