แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยตั้งแต่เริ่มแรก โดยเป็นกรรมการมาตลอดและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบบังคับในการทำงานของบริษัทจำเลย เมื่ออายุเกิน 60 ปีก็ไม่ถูกปลดเกษียณไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจำเลยกับโจทก์หาได้มีลักษณะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างไม่ เพราะโจทก์มิได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวันและไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แม้จะได้รับเงินเดือนจากบริษัทจำเลย ก็ยังถือไม่ได้ว่าบริษัทจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยได้รับเบี้ยประชุมจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปีโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่โดยเข้าทำงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทประมาณปี 2509 เงินเดือนสุดท้าย237,600 บาท ปี 2541 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1มีมติปลดโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ได้แสดงเหตุผลอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ต้องขาดรายได้ของเดือนกันยายน 2541 จำนวน 237,600 บาท โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายเท่ากับเงินเดือนจำนวน 10 ปี เป็นเงิน28,512,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน1,425,600 บาท เงินบำเหน็จเท่ากับ 12 เท่า ของเงินเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 2,851,200 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินจำนวน 33,264,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มีฐานะเป็นกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลยที่ 1 และเป็นนายจ้างผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ตามฟ้อง โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยโจทก์จะประชุมเดือนละหนึ่งครั้งมิได้มีงานใด ๆ ที่โจทก์ต้องรับผิดชอบและต้องทำงานตลอดระยะเวลาทำงานในแต่ละวัน ลักษณะงานของโจทก์ไม่เหมือนกับลูกจ้างทั่วไป โจทก์มิได้ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับลูกจ้างคนอื่นคือไม่มีแฟ้มประวัติ ไม่มีใบสมัครงานไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการ การลาก็มิต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดโจทก์ดำรงตำแหน่งมาจนถึงอายุเกือบ 70 ปี เพิ่งจะพ้นตำแหน่งเมื่อปี2541 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือพนักงานจะต้องปลดเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 มิใช่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์มาเป็นลูกจ้าง เงินเดือนของโจทก์สูงเกินกว่าบุคคลที่มีฐานะเพียงลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทจะพึงได้รับ โจทก์อนุมัติขึ้นเงินเดือนตัวเองตลอดมานอกจากโจทก์จะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ยังเป็นกรรมการของบริษัทอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันอีกกว่า10 บริษัท แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการที่มาประชุมบริษัทเป็นครั้งคราวมิใช่ลูกจ้างที่ต้องมาทำงานประจำให้กับบริษัทการที่จะเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือถอดถอนพ้นจากตำแหน่งเป็นสิทธิโดยชอบของที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้พิจารณาจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะไปบังคับผู้ถือหุ้นได้ การที่ผู้ถือหุ้นมีมติถอดถอนโจทก์ออกจากกรรมการ จำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารคนอื่นเสียหายโดยโจทก์กับพวกไปฟ้องบริษัทสยามกลการ จำกัด อันเป็นบริษัทแม่ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เรียกร้องเงินฐานผิดสัญญาทุนทรัพย์กว่า10,000,000,000 บาท จำเลยทั้งสองมิใช่นายจ้างของโจทก์เมื่อโจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะมาเรียกค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากสวัสดิการของจำเลยที่ 1 ได้ทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ. 2509 โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2509ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 237,600บาท โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เริ่มแรกและเป็นกรรมการมาตลอดจนถึง พ.ศ. 2541 และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 เมื่ออายุเกิน 60 ปี ก็ไม่ถูกปลดเกษียณ โจทก์ไม่ต้องมาทำงานทุกวันไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาโจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ หาได้มีลักษณะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างไม่ เพราะโจทก์มิได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระไม่ต้องมาทำงานทุกวัน และไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แม้โจทก์จะได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน