คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3582/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินเป็นการด่วน ดังนั้น หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รายงานว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว แม้คำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตามศาลชั้นต้นก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามความในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 ทันที คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษาตามความในพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 6 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่าศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องทีจำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นคำสั่งหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณา ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมากจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย จำเลยยื่นคำร้องขอให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่าศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่ง ศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องรอการพิพากษาคดีของศาลฎีกาจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันทีหรือไม่และหากศาลชั้นต้นสั่งให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่าศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องที่จำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาซึ่งจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีได้หรือไม่
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันทีหรือไม่นั้น เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินเป็นการด่วนดังได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 13 และ 153 ดังนั้น หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษา ให้จำเลยล้มละลายแล้วแม้คำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ตามความใน มาตรา 61 ทันที สำหรับปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่า ศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องที่จำเลยฎีกาคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาซึ่งต้อง ห้ามอุทธรณ์คำสั่งทันทีหรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าลักษณะของจำเลยต้องด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายได้ แต่เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเสียชั้นหนึ่งก่อนนั้น ก็เปิดช่องให้จำเลยได้มีโอกาสขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายนั่นเอง ซึ่งถ้าหากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามความในมาตรา 61 ทันที ดังนั้น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจึงเป็นคำพิพากษาตามความใน มาตรา 6 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่า ศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องที่จำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นคำสั่งหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาและไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share