แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนเนื่องจากถูกเรียกไปให้ถ้อยคำในฐานะเป็นพยานในกรณีที่ ส. ผู้บังคับบัญชาจำเลยถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ ส. จำเลยกล่าวถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ราชการอันเป็นส่วนรวมและมีมูลความจริง แม้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจะพาดพิงไปถึงโจทก์ ก็เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำฟ้องและคำแถลงของโจทก์ประกอบเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำกล่าวของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นคำกล่าวในการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการที่อธิบดีกรมสามัญศึกษาแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีที่นายเสนาะจันทร์สุริยา ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี รวมทั้งข้อที่มีพฤติการณ์ในทางชู้สาวกับข้าราชการครูใต้บังคับบัญชาด้วย และจำเลยก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการประพฤติปฏิบัติโดยมิชอบของนายเสนาะ จันทร์สุริยา ดังกล่าวในการสอบสวนคณะกรรมการเชื่อพยานบางปากที่ได้สอบสวนแล้วเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายเสนาะ จันทร์สุริยา ในทางชู้สาวโดยเฉพาะกับนางสาวประณีต ยินดี (โจทก์) และนางสาวปราณีอนันตโชติ ว่าน่ารับฟังและผลที่สุดคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าการกระทำของนายเสนาะ จันทร์สุริยา เป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อครูสตรีใต้บังคับบัญชา เมื่อประกอบกับความจริงข้ออื่นด้วยแล้วสมควรให้ลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น แสดงว่าถ้อยคำที่จำเลยได้ให้ไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนนั้นมีมูลเป็นความจริงจำเลยได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนเนื่องจากถูกเรียกไปให้ถ้อยคำในฐานะเป็นพยาน จำเลยกล่าวถ้อยคำเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการอันเป็นส่วนรวม เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน