แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตของวัดที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงตามสัญญาตกลงร่วมหุ้นออกไปภายใน40วันนับแต่วันทำหนังสือนั้นเมื่อตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา31ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่2)พ.ศ.2535บัญญัติว่าวัดมีสองอย่าง(1)วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา(2)สำนักสงฆ์ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไปมาตรา37บัญญัติว่าเจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้(1)บำรุงวัดจัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดีและมาตรา40บัญญัติว่าศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท(1)ศาสนสมบัติกลางได้แก่ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง(2)ศาสนสมบัติของวัดได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่งดังนั้นเมื่อวัดเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันบุคคลบุคคลธรรมดากำแพงวัดเป็นเพียงศาสนสมบัติของวัดซึ่งเจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการก่อสร้างหรือรื้อถอนเพื่อประโยชน์ของวัดได้หากจำเลยสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสเพื่อขอรื้อถอนกำแพงวัดและทางวัดยินยอมจำเลยย่อมสามารถรื้อถอนกำแพงวัดได้การที่จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าตนสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดจึงไม่เป็นโมฆะ ตามหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นมีข้อความว่า”เมื่อผู้ร่วมหุ้นที่2(จำเลย)ทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินที่จะซื้อขายภายใน40วันนับตั้งแต่วันทำสัญญาฉบับนี้”แม้จะไม่มีข้อความใดระบุว่าให้จำเลยรื้อถอนจำนวนเท่าใดก็ตามแต่เมื่อถ้อยคำในสัญญาระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดย่อมแสดงว่าจำเลยต้องรื้อถอนกำแพงด้านทิศตะวันออกทั้งหมดจำเลยรื้อถอนกำแพงออกไป6ช่องแล้วถูกดำเนินคดีจึงก่อสร้างกำแพงกลับสู่สภาพเดิม5ช่องคงเหลือส่วนที่จำเลยทุกออก1ช่องและส่วนที่ผู้อื่นทุบออก1ช่องถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถรื้อถอนกำแพงออกไปหมดตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2534 โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญากันว่า ถ้าจำเลยสามารถติดต่อให้โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 จากนาวาอากาศตรีวัชรเดช เนตรศิริ ได้แล้ว และหากจำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตด้านที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกไปได้ภายใน 40 วัน นับแต่วันทำสัญญาโจทก์ยินยอมให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 2,210,000 บาท แต่ถ้าจำเลยไม่สามารถจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปได้ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวน2,210,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาวาอากาศตรีวัชรเดช แก่ก่อนที่จะจดทะเบียนซื้อขายให้ โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันเปลี่ยนค่าตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์เป็นเงิน2,210,000 บาท เป็นว่าให้จำเลยเข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อขายโดยให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 353.6 ส่วน และให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยจำนวน 88.4 ส่วน ซึ่งที่ดินทั้งแปลงแบ่งออกเป็น 442 ส่วน และโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันได้ตกลงกันอีกว่าถ้าจำเลยไม่สามารถจัดการให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปภายในเวลา 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้น จำเลยยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินได้ และในวันที่ 30 ตุลาคม 2534 นั้นเองได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนาวาอาการตรีวัชรเดชมาเป็นของโจทก์กับจำเลยในอัตราส่วนตามที่ได้ตกลงกันแต่ต่อมาปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด 40 วัน จำเลยไม่สามารถจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของจำเลยคืนให้แก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ จากโจทก์ โจทก์บอกกล่าวเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว แต่จำเลยเรียกร้องเงินจากโจทก์จำนวน 842,000 บาท โดยจำเลยตกลงว่าจะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์โดยจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆจากโจทก์อีก แต่ภายหลังที่จำเลยรับเงินจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่28775 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 นายเทียมกังกังวาน บิดาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 เนื้อที่ดิน 1 ไร่ 42 ตารางวา จากจำเลยในราคา8,840,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันภายใน 20 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม 2534 โดยวางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยเป็นเงิน500,000 บาท มีข้อตกลงกันว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายยินยอมให้ผู้จะซื้อนำนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นมาเป็นคู่สัญญากับผู้จะขายได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้จะขายทราบล่วงหน้าต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 บิดาโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยจำนวน5,730,000 บาท ส่วนจำนวนเงินราคาที่ดินอีก 2,610,000 บาท บิดาโจทก์ไม่สามารถชำระในเวลานั้นได้ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกันเป็นว่า ให้จำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงนี้จำนวนเนื้อที่ร้อยละ 20 ซึ่งคิดเป็นส่วนของที่ดินเท่ากับ88.4 ส่วนของจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 442 ส่วน ซึ่งคิดเป็นราคาที่ดินส่วนของจำเลย 1,768,000 บาท และบิดาโจทก์ยังจะต้องชำระเงินราคาที่ดินให้แก่จำเลยอีก 842,000 บาท เมื่อตกลงกันดังกล่าวแล้วบิดาโจทก์จึงให้โจทก์เข้าทำสัญญาตกลงร่วมหุ้นกับจำเลย โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของวัดบางสะแกใน หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดิน และจำเลยจะไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 2,210,000 บาท เมื่อตกลงทำสัญญากันดังกล่าวแล้วจึงได้มีการจดทะเบียนลงชื่อในโฉนดที่ดินโดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวน 88.4 ส่วน ส่วนของบิดาโจทก์ได้ให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินแทนจำนวน 353.6 ส่วนและต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ฝ่ายโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินในส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่จำเลยอีก 842,000 บาท ข้อสัญญาที่ตกลงกันให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินออกไปภายใน 40 วันนับแต่วันทำสัญญาตกลงร่วมหุ้นกันตามที่โจทก์ระบุในฟ้องนั้นเป็นโมฆะเนื่องจากกำแพงที่ให้จำเลยรื้อถอนนั้นเป็นกำแพงของวัดบางสะแกใน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการทำให้เสียทรัพย์ของบุคคลภายนอกเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นข้อตกลงที่ไม่อาจบังคับได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาได้ แต่จำเลยได้ติดต่อกับวัดบางสะแกในซึ่งคณะกรรมการวัดได้พิจารณาถึงประโยชน์จากการที่จะขยายทางให้แก่ประชาชนใช้สัญจรได้สะดวกขึ้น วัดบางสะแกในได้อนุญาตให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงในส่วนที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินแปลงดังกล่าวได้จำเลยได้จัดการรื้อถอนกำแพงตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10ตุลาคม 2534 นายทียม วังกังวานบิดาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 ตำบลตลาดพลู (บางสะแก)อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 8,840,000 บาทในวันทำสัญญาวางมัดจำ 500,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระภายใน 20 วันต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 นาวาอากาศตรีวัชรเดช เนตรศิริเจ้าของที่ดินเดิมได้โอนขายที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลย และในวันเดียวกันโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนบรรยายส่วน โดยแบ่งที่ดินเป็น 442 ส่วน เป็นของโจทก์ 353.6 ส่วน เป็นของจำเลย 88.4 ส่วนและในวันเดียวกันนั้น โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นลงวันที่ 30 ตุลาคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.2 วันที่ 15พฤศจิกายน 2534 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยในข้อหาทำลายรั้วคอนกรีตของวัดบางสะแกใน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าข้อสัญญาที่ว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปภายใน 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อวัดเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดากำแพงวัดเป็นเพียงศาสนสมบัติของวัด เจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการก่อสร้างหรือรื้อถอนเพื่อประโยชน์ของวัดได้ หากจำเลยสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสเพื่อขอรื้อถอนกำแพงวัดและทางวัดยินยอม จำเลยย่อมสามารถรื้อถอนกำแพงได้ การที่จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าตนสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ตามสัญญาที่ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปภายใน 40 วัน ไม่มีข้อความใดระบุว่าให้รื้อถอนมากน้อยเพียงใด การที่จำเลยได้ทุบกำแพงเป็นจำนวน 2 ช่อง ภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงแล้วจำเลยจึงไม่ผิดสัญญานั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้น เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 มีข้อความว่าเมื่อผู้ร่วมหุ้นที่ 2 (จำเลย) ทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินที่จะซื้อขายภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญาฉบับนี้” ไม่มีข้อความระบุว่าให้จำเลยรื้อถอนจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำในสัญญาระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดแสดงว่าจำเลยต้องรื้อถอนกำแพงด้านทิศตะวันออกทั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยรื้อถอนกำแพงออกไป 6 ช่อง แล้วถูกดำเนินคดี จึงก่อสร้างกำแพงกลับสู่สภาพเดิม5 ช่อง คงเหลือส่วนที่จำเลยทุบออก 1 ช่อง และส่วนที่ผู้อื่นทุบออก 1 ช่อง ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถรื้อถอนกำแพงออกไปหมดไปตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน