แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่เป็นผัวเมียตามกฎหมายเก่า เมื่อไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิม ก็ต้องแบ่งสินสมรสให้แก่สามี 2 ส่วน ภรรยา 1 ส่วน
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยปกครองมรดกแทนโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อที่ไม่มีทรัพย์มรดก โจทก์ฎีกา ฝ่ายจำเลยเถียงในชั้นฎีกาในข้ออื่น มิได้เถียงในข้อปกครองแทน ดังนี้ศาลฎีกาคงถือว่าจำเลยปกครองมรดกแทนโจทก์
โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกและตีราคามาในคำขอท้ายฟ้องด้วยนั้นศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามส่วนที่โจทก์ขอโดยไม่ต้องจำกัดให้ได้รับเกินราคาท้ายฟ้องได้ เพราะการตีราคามานั้นเพื่อเรียกค่าธรรมเนียมศาล
ผู้ร้องขอส่วนแบ่งมรดกมาในศาลชั้นต้น เมื่อคดีสู่ศาลสูง ผู้ร้องก็ยื่นคำร้องขอส่วนแบ่งในชั้นศาลสูงอีกได้โดยไม่ต้องทำเป็นอุทธรณ์ฎีกา
ย่อยาว
คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนนายแสวงกับพวกบุตรขอแบ่งมรดกของมารดาซึ่งเป็นภรรยาจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
นายแสวงโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบิดาและมารดาโจทก์ต่างไม่มีสินเดิมมาอยู่กินด้วยกันเลย ส่วนในปัญหาเรื่องอายุความเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยปกครองมรดกรายนี้ไว้แทนโจทก์กับพวก ซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านความข้อนี้เป็นแต่ต่อสู้ว่าการที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านไปนั้น หาทำให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่ ศาลฎีกาคงฟังว่า จำเลยปกครองแทนจำเลยจะได้ขับไล่โจทก์และผู้ร้องไปจากบ้านหรือไม่ก็ตามจะเอาอายุความมรดกมาตัดหาได้ไม่ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ส่วนในข้อที่โจทก์ฎีกาคัดค้านในข้อที่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้โจทก์แก้จำนวนทุนทรัพย์ให้สูงขึ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ทุนทรัพย์ที่โจทก์จำต้องตีราคามานั้นก็เพื่อจะได้คิดค่าธรรมเนียมศาลในขณะที่ฟ้องครั้นต่อมาเมื่อราคาทรัพย์เพิ่มขึ้น ศาลก็พิพากษาให้โจทก์ได้รับเต็มตามส่วนที่โจทก์ควรได้รับได้ แม้จะเกินราคาที่โจทก์ตี และหาเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โฉนดมีชื่อจำเลยและเจ้ามรดกร่วมกัน ต้องถือว่าเป็นส่วนคนละครึ่งตามกฎหมายที่ดินนั้น เห็นว่าต้องถือส่วนในฐานะเป็นสามีภริยา และแบ่งกันตามกฎหมายผัวเมียจึงพิพากษาให้แบ่ง 3 ส่วนตกได้แก่จำเลย 2 ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นมรดก แบ่งเป็น 7 ส่วนได้แก่นายแสวงส่วนหนึ่งเท่าที่ขอมา ได้แก่นายสวัสดิ์ส่วนหนึ่ง