แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 97และมาตรา 102 วรรคหนึ่ง การค้นโดยมีหมายค้นจะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ถูกระบุชื่อในหมายค้น และทำการค้นต่อหน้าเจ้าของหรือบุคคลในครอบครัวของเจ้าของสถานที่ที่จะค้นหรือมิฉะนั้นก็ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นสองคนที่ขอให้มาเป็นพยานก็ได้ร้อยตำรวจเอก พ. ผู้ถูกระบุชื่อในหมายค้นเป็นหัวหน้าในการตรวจค้นและทำการตรวจค้นต่อหน้าจำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของบ้าน จึงถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัวตามที่ระบุในมาตรา 102 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็เป็นผู้เข้าใจในสาระของการกระทำและมีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอที่จะให้ความยินยอมโดยชอบแล้ว ดังนั้น การค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่งจำคุก 18 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุกว่าสิบเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ในการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุมิได้มีการตรวจค้นต่อหน้านายชัย บุษบา ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ จำเลยแม้จะเป็นบุตรของนายชัยแต่จำเลยก็มิได้อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าวทุกวัน นาน ๆ จำเลยจะกลับมาสักครั้งหนึ่ง อีกทั้งจำเลยก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยจึงไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจค้นได้การตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 97 บัญญัติว่า”ในกรณีที่ค้นโดยมีหมาย เจ้าพนักงานผู้มีชื่อในหมายค้นหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจเป็นหัวหน้าไปจัดการให้เป็นไปตามหมายนั้นและมาตรา 102 วรรคหนึ่ง บัญญัติอีกว่า “ในการค้นที่รโหฐานนั้นก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน” จากข้อกฎหมายที่ยกมากล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ในการค้นโดยมีหมายค้นนั้นจะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ถูกระบุชื่อในหมายค้น และทำการค้นต่อหน้าเจ้าของหรือบุคคลในครอบครัวของเจ้าของสถานที่ที่จะค้น หรือมิฉะนั้นก็ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นสองคนที่ขอให้มาเป็นพยานก็ได้ ในคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า มีหมายค้นถูกต้องตามกฎหมาย มีร้อยตำรวจเอกพรชัย ตรีศร ผู้ถูกระบุชื่อในหมายค้นเป็นหัวหน้าในการตรวจค้นและทำการตรวจค้นต่อหน้าจำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของบ้านจึงถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัวตามที่ระบุในมาตรา 102 วรรคหนึ่งแม้จำเลยจะยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็เป็นผู้เข้าใจในสาระของการกระทำและมีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอที่จะให้ความยินยอมโดยชอบแล้ว ดังนั้น การค้นจึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน