คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์มีเจตนาจะทำสัญญาจำนอง แต่เมื่อจำเลยไม่ตกลงด้วย และให้ทำสัญญาขายฝาก โจทก์ก็ตกลงยินยอม เช่นนี้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากโดยความสมัครใจเอง มิใช่เกิดจากเจตนาลวง และมิใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง แม้จำเลยจะคิดผลประโยชน์ในการรับซื้อฝากโดยเรียกเท่ากับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 บาท 75 สตางค์ต่อเดือน เป็นอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนดในการเรียกดอกเบี้ยก็ตาม แต่เมื่อนำผลประโยชน์ที่เรียกมารวมกับเงินค่ารับซื้อฝากที่จำเลยให้โจทก์ไปแล้วย่อมกลายเป็นสินไถ่ซึ่งในสัญญาขายฝาก คู่สัญญาจะกำหนดสินไถ่โดยเรียกผลประโยชน์รวมไปกับเงินต้นเท่าใดก็ได้ โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499 อนุญาตไว้ และคู่สัญญาย่อมตกลงผ่อนชำระสินไถ่กันได้ การผ่อนชำระเงินต้นของโจทก์ย่อมมีผลเท่ากับผ่อนชำระสินไถ่บางส่วนนั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอไถ่ถอนจำนอง อ้างว่านิติกรรมขายฝากที่ดินที่ทำกับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมจำนอง ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับเงินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทคืนโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนด ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงทางพิจารณาฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2513 โจทก์ได้จดทะเบียนทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไว้กับจำเลยเป็นเงิน 3,060,000 บาท มีกำหนดเวลา 2 ปี 10 เดือน พ้นกำหนดเวลาไถ่แล้วโจทก์มิได้ไถ่คืน คดีมีปัญหาโต้เถียงกันว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบอ้างว่า เดิมโจทก์ต้องการกู้เงินสองล้านบาท เพื่อให้นายบรรจง นายจาง และนายสาโรจน์ บุตรโจทก์เอาไปลงทุนทำเหมืองแร่ร่วมกับนายวินัย โดยจะเอาทรัพย์พิพาทจำนองเป็นประกัน นายวินัยได้ให้นายไกรสรณ์หรือหมุ่ยเป็นนายหน้าไปติดต่อขอกู้เงินจากจำเลยได้ แต่ในวันไปทำสัญญาที่สำนักงานที่ดิน จำเลยเสนอให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก อ้างว่าจำเลยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 บาท 75 สตางค์ ต่อเดือนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะทำเป็นสัญญาจำนองไม่ได้ และจำเลยต้องการดอกเบี้ยอย่างเดียว แม้โจทก์ไม่ไถ่ภายในกำหนดตามสัญญาก็จะไม่เอาทรัพย์หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนโจทก์ต้องการจะทำเป็นสัญญาจำนอง แต่จำเลยไม่ยอม โจทก์จึงตกลงยินยอมทำสัญญาขายฝากนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำเบิกความของตัวโจทก์เองได้ความว่าก่อนที่โจทก์จะทำสัญญา เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินได้สอบถามโจทก์ว่า ทำสัญญาขายฝากใช่หรือไม่ โจทก์รับว่าใช่ เพราะบุตรโจทก์บอกว่าได้ตกลงกับเจ้าของเงินให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก นายบรรจง นายจาง และนายวินัยพยานโจทก์ก็เบิกความรับว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาขายฝาก เพราะจำเลยไม่ยอมทำจำนอง และเจ้าหน้าที่สอบถามโจทก์ก่อนทำสัญญาจริง นอกจากนี้ตอนที่โจทก์ไปร้องเรียกต่อสำนักงาน ก.ส.ส. โจทก์ก็ร้องว่าได้ทำสัญญาขายฝากทรัพย์พิพาทให้กับจำเลยและพ้นกำหนดไถ่แล้วโจทก์จะขอซื้อที่ดินคืนและเมื่อโจทก์ไปขออายัดต่อสำนักงานที่ดินตามเอกสาร หมาย ล.13 ถึง ล.16 โจทก์อ้างทำนองเดียวกันว่าได้ขายฝากที่ดินกับจำเลยไว้และจะขอซื้อคืน โจทก์มิได้กล่าวถึงเรื่องจำนองหรือทำสัญญาขายฝากอำพรางสัญญาจำนองเลย ดังนี้ แม้จะฟังว่าเดิมโจทก์มีเจตนาจะทำสัญญาจำนอง แต่เมื่อจำเลยไม่ตกลงด้วยและให้คำสัญญาขายฝาก ซึ่งในที่สุดโจทก์ตกลงยินยอมทำสัญญาขายฝากเช่นนี้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากโดยความสมัครใจของโจทก์เอง ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว บุตรโจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยหลายงวดดังปรากฏตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.1ถึง จ.4 และ เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว โจทก์ไปขอไถ่ที่ดิน จำเลยก็ยินยอมจะขายที่ดินคืนให้ ตามพฤติการณ์แสดงว่า เป็นการกู้เงินเอาทรัพย์พิพาทจำนองเป็นประกันนั้น ตามใบรับเงินเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า ได้รับเงินต้นบางส่วนคืนจากจำเลย หาได้ระบุว่าเป็นเงินดอกเบี้ยไม่ แม้จะฟังว่าจำเลยคิดผลประโยชน์ในการรับซื้อฝากโดยเรียกเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 บาท 75 สตางค์ต่อเดือนอันเป็นอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนดในการเรียกดอกเบี้ยก็ตาม แต่เมื่อนำผลประโยชน์ที่เรียกมารวมกับเงินค่ารับซื้อฝากที่จำเลยให้โจทก์ไปแล้วย่อมกลายเป็นสินไถ่ ซึ่งในสัญญาขายฝากคู่สัญญาจะกำหนดสินไถ่โดยเรียกผลประโยชน์รวมไปกับเงินต้นเท่าใดก็ได้ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499อนุญาตให้กำหนดสินไถ่กันไว้ได้ และสินไถ่นั้นคู่สัญญาย่อมตกลงผ่อนชำระกันได้ การผ่อนชำระเงินต้นตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 มีผลเท่ากับย่อมชำระสินไถ่บางส่วนสรุปแล้วข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ทำสัญญาขายฝากทรัพย์พิพาทโดยความสมัครใจของโจทก์เอง สัญญาขายฝากหาใช่เกิดจากเจตนาลวงด้วยการสมรู้ของโจทก์จำเลยคู่สัญญาที่ทำเพื่อจะอำพรางการจำนองไม่ ฉะนั้นสัญญาขายฝากจึงมิใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง”

พิพากษายืน

Share