คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หน้า 10 ข้อ 1 ระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า “บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้” ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัยของบริษัทประกันภัยรวมถึงจำเลยด้วย ซึ่งตามคู่มือตีความหน้าที่ 3 อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่า จะคุ้มครองเฉพาะ 1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ 2. ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ โดยการแจ้งให้ทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ความหมายรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็น ต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 10,856 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ 5,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 10,856 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มิถุนายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5อ – 3658 กรุงเทพมหานคร แบบคุ้มครองเฉพาะภัยกับจำเลย ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2555 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัย โจทก์ขับรถยนต์คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ซึ่งโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนที่ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 10,856 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่รถยนต์ซึ่งเอาประกันไว้กับจำเลยเกิดความเสียหายเนื่องจากเฉี่ยวชนกับยานพาหนะทางบก แต่โจทก์ผู้เอาประกันไม่สามารถแจ้งให้จำเลยทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นความรับผิด หรือไม่ เห็นว่า ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย ระบุถึงความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ตามเอกสารแนบท้ายแบบคุ้มครองเฉพาะภัย ซึ่งเอกสารแนบท้ายดังกล่าวคือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หน้าที่ 10 ข้อ 1 ระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า “บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้…” ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัยของบริษัทประกันภัยรวมถึงจำเลยด้วย ซึ่งการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในฐานะนายทะเบียนตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 4/2551 กำหนดให้เป็นไปตามคู่มือตีความประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัยที่แนบท้ายคำสั่งดังกล่าว คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมมีผลบังคับได้ตามคู่มือตีความหน้าที่ 3 ได้อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่า จะคุ้มครองเฉพาะ 1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ 2. ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ และโดยที่คู่มือดังกล่าวได้อธิบายถึงเงื่อนไขประการที่ 2 ในหน้าที่ 4 ว่า การแจ้งให้บริษัทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ให้หมายความรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์คู่กรณี เช่น กรณีรถยนต์คันที่เอาประกันภัยถูกรถคู่กรณีชนแล้วหลบหนี ความคุ้มครองจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงผู้ขับขี่รถยนต์คู่กรณี หรือหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณี ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับมาเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share