คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลย จนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์แล้วเมื่อยังไม่ปรากฏทางทะเบียนว่าได้เปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้อื่น กรรมสิทธิ์ก็ยังคงตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าได้ตกลงขายให้โจทก์ที่ 2 แล้ว ก็ตาม โจทก์ที่ 1 ก็ยังมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของและมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยซึ่งเป็นที่ดินขายฝากโจทก์ไว้เกิน 10 ปีแล้ว จำเลยต่อสู้ว่าไถ่ถอนแล้ว แต่ยังไม่ได้แก้ทะเบียน แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้ง ดังนี้ คดีไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลย
ขายฝากที่ดินไว้ไม่ได้ไถ่ถอนโอนทะเบียนคืนมา ผู้ขายฝากไปโอนทะเบียนขายให้ผู้อื่น ผู้รับซื้อฝากฟ้องขอให้ทำลายการโอนได้

ย่อยาว

โจทก์ที่ 1 ได้รับซื้อฝากที่พิพาทซึ่งเป็นที่บ้านไว้จากจำเลยที่ 1 เกินกำหนดไถ่ถอน เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ที่ 1 ได้ขายที่พิพาทนี้แก่โจทก์ที่ 2 กับนายยูซุปสามี โดยวิธีผ่อนใช้ และได้ผ่อนใช้ครบแล้ว ยังแต่มิได้โอนกรรมสิทธิ์ขายกันทางทะเบียนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เอาที่พิพาท ร้องขอขายแก่จำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ร้องคัดค้านทางอำเภอก็ยังทำสัญญาซื้อขายให้จำเลย โจทก์จึงฟ้องขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และขอให้สั่งทำลายนิติกรรมซื้อขายของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 แต่เชื่อข้อเท็จจริงตามคำพยานจำเลยว่า จำเลยได้ไถ่ถอนที่พิพาทจากโจทก์ โดยโจทก์ยินยอมให้ไถ่แล้ว โจทก์ที่ 1 จึงตกอยู่ในข้อผูกพันต้องจดทะเบียนการไถ่ถอนการขายฝากต่อเจ้าหน้าที่เมื่อจำเลยต้องการ ส่วนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยวินิจฉัยว่าไม่สุจริต ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทและให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมระหว่างจำเลย

จำเลยฎีกามีใจความว่า (1) โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง (2) นายยูซุบครอบครองที่พิพาทแทนจำเลย ๆ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ (3) นิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยใช้ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า (1) โจทก์ที่ 1 ได้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 จนหลุดพ้นเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว เมื่อยังไม่ปรากฎทางทะเบียนว่าได้เปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้อื่นกรรมสิทธิ์ก็ยังตกเป็นของโจทก์ โจทก์ที่ 1 แม้โจทก์จะกล่าวว่าได้ตกลงขายให้โจทก์ที่ 2 แล้วก็ตาม โจทก์ที่ 1 ยังทรงสิทธิเป็นเจ้าของและมีอำนาจฟ้องคดี ส่วนข้อที่จำเลยว่าใช้นายยูซุบไปไถ่ที่แทนแล้ว (จำเลยว่าใช้เงินค่าที่ขายฝากและรับหนังสือขายฝากคืนแล้ว แต่ยังไม่ได้แก้ทะเบียน) คดียังไม่ต้องพิจารณาข้อต่อสู้นี้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้อง (2) ที่ดินบ้านรายพิพาทปรากฎทางทะเบียนว่าเป็นของโจทก์ที่ 1 แม้จะฟังว่านายยูซุบครอบครองแทนจำเลยโดยปรปักษ์ก็มีระยะเวลาเพียง 4-5 ปี โจทก์ที่ 1 ยังไม่ขาดกรรมสิทธิ์ (3) ที่บ้านรายนี้เป็นของโจทก์ที่ 1โดยนิติกรรมซื้อฝากหลุดเป็นสิทธิ มิใช่ของจำเลยที่ 1, 2 ๆ ไม่มีอำนาจที่จะขายที่ดินรายนี้ จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุที่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 ได้รู้ความเป็นไปในเรื่องนี้ จะเรียกว่าจำเลยที่ 3 ได้ซื้อไว้จากมารดาและพี่สาวโดยสุจริตไม่ได้

อาศัยเหตุดังกล่าว จึงพิพากษายืน

Share