แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 วรรคสอง ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองและนางสาวประสิทธิ์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางสายทองผู้ตาย การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 นางสาวประสิทธิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการมรดกของนางสายทอง โจทก์ทั้งสองประสงค์ที่จะจัดการมรดกแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่ไม่สามารถจัดการได้ เนื่องจากต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 204 อยู่ที่จำเลย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 204 ตำบลบ้านแป้ง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คืนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า เมื่อนางสาวประสิทธิ์ ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจจัดการมรดกตามลำพังต่อไปได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและนางสาวประสิทธิ์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสายทองหรือทองผู้ตาย โดยผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองและนางสาวประสิทธิ์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางสายทองตามคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 352/2548 ของศาลชั้นต้น ต่อมานางสาวประสิทธิ์ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ศาลได้ตั้งโจทก์ทั้งสอง และนางสาวประสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ฟ้องคดีจึงเป็นเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 แล้ว การที่ศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน และมีผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้ตามมาตรา 4 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 1715 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้” และในวรรคสองบัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคนแต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้” เมื่อพิจารณาข้อความในวรรคสองของมาตรา 1715 แล้ว เห็นว่า ข้อความในวรรคสองนั้นสืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน” ในวรรคสองนั้นหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม และที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตามมาตรา 1713 บัญญัติให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น ก็เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการตั้งผู้จัดการมรดกโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกเท่านั้น แต่กรณีที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรม เมื่อศาลเห็นสมควรจะตั้งให้คนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ และในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกนั้นก็โดยเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะให้บุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง ซึ่งกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกที่เหลือมีเพียง 2 คน หากเกิดกรณีที่ผู้จัดการมรดกทั้งสองมีความเห็นแตกต่างกัน คนหนึ่งคนใดก็ไม่อาจจัดการมรดกไปได้ การจัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ให้จัดการร่วมกันก็จะไม่มีผลข้อขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดกก็คงมีอยู่ต่อไป ทายาทไม่อาจแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ ดังนั้น หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 วรรคสอง ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับในกรณีนี้ได้ ดังนั้น เมื่อนางสาวประสิทธิ์ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกต่อไปเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ