คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมไปรษณีย์โทรเลขโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่การที่โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ โดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พร้อมทั้งต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ รวมทั้งต้องชำระค่าตอบแทนเพิ่มในกรณีไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ภายในกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6)
สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนเพิ่มในกรณีไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26
ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันเนื่องมาจากจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์ อาศัยเหตุมาจากการที่จำเลยไม่ยอมส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าคืนโจทก์เมื่อสัญญาเช่าใช้เลิกกัน ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการเลิกสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 มิใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการเรียกค่าเช่า เมี่อค่าเสียหายในส่วนนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยไม่สามารถส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนโจทก์ผู้ให้เช่าได้เนื่องจากเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์สูญหายไป สัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหายย่อมเป็นอันระงับไปนับแต่วันที่สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในลักษณะเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคม ต่อมามีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ให้โอนโจทก์มาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่บริหารความถี่วิทยุ ดำเนินการด้านใบอนุญาตวิทยุคมนาคม ให้เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม ตรวจสอบและเฝ้าฟังวิทยุ และดำเนินการอื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม สำหรับคดีนี้สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติได้มีมติมอบหมายให้โจทก์ดำเนินการให้เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับข่ายเฉพาะกิจแก่ภาคเอกชนเพื่อเป็นการสนับสนุนการให้บริการโทรคมนาคมสาธารณะ โจทก์จึงได้ออกระเบียบเรียกว่า ระเบียบกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าด้วยการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับข่ายเฉพาะกิจ พ.ศ.2534 จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เป็นผู้ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุ 143.150 MHz และจำเลยได้เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 จำเลยได้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์และได้ทำสัญญาเลขที่ 1457/2533 เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 4 เครื่อง จากโจทก์ ยอมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 250 บาท ต่อ 1 เครื่อง วันที่ 8 มกราคม 2534 จำเลยได้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์และได้ทำสัญญาเลขที่ 1680/2534 เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์รวม 4 เครื่อง จากโจทก์ยอมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 250 บาท ต่อ 1 เครื่อง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 จำเลยได้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์และได้ทำสัญญาเลขที่ 2253/2535 เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 2 เครื่อง จากโจทก์ยอมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 300 บาท ต่อ 1 เครื่อง และวันที่ 19 เมษายน 2536 จำเลยได้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์และได้ทำสัญญาเลขที่ 2327/2536 เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์
จำนวน 1 เครื่อง จากโจทก์ ยอมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 300 บาท ตามสัญญาเช่าใช้แต่ละฉบับดังกล่าวจำเลยต้องชำระค่าเช่าภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน และจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 กฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด สัญญามีผลใช้บังคับ 1 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญา หากจำเลยยังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์อยู่ ให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าต่อไปจนกว่าผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่าต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ในสภาพที่ใช้งานได้ดีคืนให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539 กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ โดยให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุต้องยื่นแบบแสดงรายการค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามที่โจทก์กำหนดพร้อมชำระค่าตอบแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยค้างชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์เป็นเวลานาน และค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุพร้อมชำระค่าตอบแทน จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการ ครั้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 1680/2534 จำนวน 3 เครื่อง และตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 2253/2535 จำนวน 1 เครื่อง คืนโจทก์ และต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2542 จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมตามสัญญาเช่าใช้ เลขที่ 2327/2536 คืนโจทก์อีก 1 เครื่อง และโจทก์พิจารณาแล้วยินยอมให้จำเลยยกเลิกสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ส่วนที่ยังไม่ได้ส่งมอบคืนอีก 6 เครื่อง และได้แจ้งให้จำเลยส่งคืนอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่ยังไม่ได้ส่งคืน ชำระค่าเช่าใช้ที่ค้าง ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม ส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมที่สูญหายโจทก์ได้ดำเนินการให้กระทรวงการคลังคำนวณค่าเสื่อมราคา หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาและชดใช้ราคาเครื่องวิทยุคมนาคมที่สูญหาย แต่จำเลยเพิกเฉย จึงต้องรับผิดชำระค่าเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่จำเลยไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6 เครื่อง และอุปกรณ์วิทยุคมนาคมอันได้แก่ แท่นชาร์จ 5 อัน เสาอากาศ 4 ต้น แพ็คถ่าน 3 ก้อน รวมเป็นค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 26,612.34 บาท ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 1457/2533 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนเมษายน 2542 รวม 6 เดือน เป็นเงินจำนวน 7,200 บาท ตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 1680/2534 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 รวม 5 เดือน เป็นเงินจำนวน 6,000 บาท ตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 2253/2534 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 รวม 5 เดือน เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท ตามสัญญาเช่าใช้เลขที่ 2327/2536 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2536 ถึงเดือนมีนาคม 2542 รวม 71 เดือน เป็นเงินจำนวน 21,300 บาท รวมเป็นเงินค่าเช่าใช้ที่ค้างชำระทั้งสิ้นจำนวน 37,500 บาท ชำระค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่ชำระราคาเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์รวม 6 เครื่อง ให้แก่โจทก์ โดยขอคิดค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าใช้ในอัตราเดือนละ 1,800 บาท ต่อเครื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน เป็นเงินจำนวน 52,200 บาท ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2541 อัตราปีละ 1,600 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 4,800 บาท และชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มของปี 2539 ถึงปี 2541 อันเนื่องจากไม่ชำระค่าตอบแทนภายในกำหนดเวลาในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ของค่าตอบแทนที่ต้องชำระในอัตราวันละ 48 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2541 จนถึงวันชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุแล้วเสร็จ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1,663 วัน รวมเป็นเงินจำนวน 79,824 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6 เครื่อง เป็นเงินจำนวน 19,379 บาท ชำระราคาค่าอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่ไม่สามารถส่งคืนได้พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 7,233.34 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 6,263 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 53,290.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 37,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าขาดประโยชน์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6 เครื่อง เป็นเงินจำนวน 52,200 บาท และอัตราเดือนละ 1,800 บาท ต่อเครื่อง นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุจำนวน 4,800 บาท และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน 79,824 บาท และอัตราวันละ 48 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ทั้งสัญญาให้เลขที่ 1296/2533 และสัญญาเช่าใช้เลขที่ 1457/2533 ก็ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าเครื่องวิทยุคมนาคมและค่าอุปกรณ์จำนวน 4 เครื่อง ตามสัญญาเช่าใช้ดังกล่าว ค่าอุปกรณ์ที่โจทก์เรียกร้องมาก็สูงเกินไป สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามสัญญาเช่าทั้ง 4 ฉบับ ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์สูญหายเป็นเรื่องละเมิด โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยทำเครื่องวิทยุคมนาคมสูญหาย แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ และค่าเสียหายส่วนนี้ซ้ำซ้อนกับที่โจทก์เรียกให้จำเลยใช้ราคาค่าเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหาย ทั้งจำเลยไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องนี้กับโจทก์ และโจทก์ถือเป็นผู้รับส่งข่าวสารให้จำเลยเช่าความถี่วิทยุเรียกเอาค่าตอบแทนอันเกิดจากการเช่า จึงถือว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุภายใน 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระ คือปี 2539 ถึงปี 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (3) แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความ เมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,642 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าอุปกรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6,263 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 26,612.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,263 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยไม่สามารถส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนโจทก์ ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ การดำเนินงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องของผู้ประกอบกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ทั้งมิใช่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น แต่ลักษณะเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการสาธารณะ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2532 จำเลยยื่นเรื่องต่อโจทก์ขอมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมจำนวน 24 เครื่อง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 โจทก์พิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ความถี่ 143.150 MHz จำนวน 20 เครื่อง โดยวิธีเช่าใช้จากโจทก์ ตามหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 วันที่ 8 มกราคม 2534 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 19 เมษายน 2536 จำเลยทำสัญญาให้และมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 4 เครื่อง 4 เครื่อง 2 เครื่อง และ 1 เครื่อง ตามลำดับให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท 1,000 บาท 600 บาท และ 300 บาท ตามลำดับ โดยชำระภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน สัญญาเช่าใช้แต่ละฉบับมีกำหนด 1 ปี และมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว หากจำเลยยังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ต่อไปอีก ให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าต่อไปจนกว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญา ตามสัญญาให้และสัญญาเช่าใช้เอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.17 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2539 มีประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้แก่โจทก์ โดยครั้งแรกต้องยื่นแบบแสดงรายการค่าตอบแทนพร้อมชำระค่าตอบแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากโจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระเกินกำหนดเวลาต้องเสียค่าตอบแทนเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ของค่าตอบแทนที่ต้องชำระ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระจนถึงวันชำระเสร็จ ตามประกาศเอกสารหมาย จ.27 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 11 มิถุนายน 2541 แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.28 ต่อมาปี 2542 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าทั้ง 4 ฉบับ และได้ส่งเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์บางส่วน โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 ส่งคืนจำนวน 4 เครื่อง และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 ส่งคืนจำนวน 1 เครื่อง ส่วนอีก 6 เครื่อง จำเลยแจ้งว่าสูญหาย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.25 โจทก์มีหนังสือแจ้งยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญาเช่าใช้พร้อมแจ้งให้จำเลยส่งคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ให้ครบถ้วนตามสัญญา หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคาแทน ให้ชำระค่าเช่าใช้ที่ค้างชำระ ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าใช้สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่สูญหาย ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุพร้อมค่าตอบแทนเพิ่ม เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่การที่โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ โดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พร้อมทั้งต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ รวมทั้งต้องชำระค่าตอบแทนเพิ่มในกรณีไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ภายในกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ส่วนค่าตอบแทนรวมทั้งค่าตอบแทนเพิ่มที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุก็มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์และเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามสัญญาเช่าใช้ทั้ง 4 ฉบับ เกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวจึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนเพิ่มดังกล่าวซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมขาดอายุความด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 สำหรับที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์อันเนื่องมาจากจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์เมื่อสัญญาเลิกกันนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวนี้เป็นการเรียกร้องโดยอาศัยเหตุมาจากการที่จำเลยไม่ยอมส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าคืนโจทก์เมื่อสัญญาเช่าใช้เลิกกัน อันถือเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการเลิกสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หาใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการเรียกค่าเช่าตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สาเหตุที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 6 เครื่อง คืนโจทก์ได้เนื่องจากเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวได้สูญหายไป สัญญาเช่าใช้สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหายย่อมเป็นอันระงับไปนับแต่วันที่สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในลักษณะเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share