คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตในคำร้องขออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวจะอุทธรณ์ไม่ได้ ทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่หาได้มีผลเป็นการสั่งรับอุทธรณ์หรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ แต่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามาเฉพาะฐานความผิดของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, และที่ 7 ที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับใหม่ต่อไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยไม่ได้โต้แย้งว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในหลายฐานความผิด ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 7 ส่วนจำเลยที่ 2 ยกฟ้อง ซึ่งคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษายืนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 5 และที่ 6 ชั่วคราว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, และที่ 7 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในฐานความผิดของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 7 บางฐานความผิดที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ต่อศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษามีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวของโจทก์ว่า ข้อความที่ตัดสินไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี จึงไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในฐานความผิดที่ต้องห้ามดังกล่าว และสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์อุทธรณ์ในข้อหาที่ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 7 รวมกันมาในอุทธรณ์ จึงให้โจทก์จัดทำอุทธรณ์มาใหม่เฉพาะข้อหาที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงยื่นเข้ามาภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 มีนาคม 2550 อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ขอให้รับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นได้สั่งคำร้องขออนุญาตในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ว่าไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในฐานความผิดที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์จัดทำอุทธรณ์ฉบับใหม่มายื่นเฉพาะฐานความผิดที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยให้ยื่นภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นสั่งดังกล่าว กลับยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปนั้นก็เป็นการสั่งคำร้องขออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่อนุญาตเท่านั้น ซึ่งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวจะอุทธรณ์ไม่ได้ ทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่ หาได้มีผลเป็นการสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ แต่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามาเฉพาะฐานความผิดของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 7 ที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับใหม่ต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป โดยไม่ได้โต้แย้งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกขั้นตอน ตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งและให้ยกคำร้องของโจทก์ จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share