คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ยืมที่ดินไปจำนองธนาคาร โดยจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตกลงว่าเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยที่ 1 จะโอนคืนโจทก์นั้น การโอนขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยเจตนาลวง ไม่มีความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เดิม (มาตรา 155 ที่แก้ไขใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวของโจทก์และเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 27390เนื้อที่ 84 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 เนื้อที่ 42ตารางวา ตั้งอยู่ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โจทก์ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 ให้แก่จำเลยทั้งสองในราคา 150,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่มีเงินพอจำเลยทั้งสองจึงต้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 ไปจำนองแก่ธนาคารแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 เมื่อทำการจำนองแล้วจะได้รับเงินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงขอยืมที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 ของโจทก์ ไปจำนองแก่ธนาคาร มีข้อตกลงกันว่า เมื่อจำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงเมื่อใดจำเลยทั้งสองก็จะคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 ให้แก่โจทก์ แต่เพื่อความสะดวกและรวดเร็วโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงกันให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 แทนโจทก์ โจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 และ 27391 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 และ 27391 ไปจำนองแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27390 และ 27391โจทก์นัดจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 มาเป็นของโจทก์จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนชื่อในที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 เป็นของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายในการโอนแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์นำที่ดินทั้งสองแปลงไปจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดและโจทก์ไม่มีเงินใช้หนี้จึงได้ขอให้จำเลยทั้งสองช่วยซื้อที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์เป็นพี่สาวจึงตกลงซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในราคา 200,000 บาท ในการซื้อขายตกลงกันว่าให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ แล้วโจทก์นำเงินที่ได้นั้นไปไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากธนาคารแล้วจะไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ 200,000 บาท โจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงในวันที่ 22 มิถุนายน 2527 เสร็จแล้วโจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน การทำนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 ดังกล่าวไม่เป็นการโอนเพื่ออำพรางนิติกรรมการยืมที่ดินของโจทก์แต่อย่างใดและจำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงจะคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 ให้แก่โจทก์ และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่27390 และ 27391 จำนองเป็นประกัน ไม่ใช่กู้เงินมาชำระค่าที่ดินให้โจทก์ แต่เป็นการกู้มาใช้จ่ายส่วนตัวและใช้หนี้คนอื่น จำเลยที่ 1ไม่เคยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 27391 ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 27391 ให้นายถาวร พุฒตาล ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ 30,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระและรับโฉนดที่ดินเลขที่ 27391 คืนมาและนำไปวางไว้ที่ร้านขายของที่ตลาดสดเทศบาลเมืองนนทบุรี โจทก์มาเห็นและหยิบเอาไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27391 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 27391ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เดิมเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ปัจจุบันมีชื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ คดีมีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเบิกความตามข้ออ้างแห่งตนและเพื่อประโยชน์ของตนทั้งสองฝ่าย พยานบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายอ้างมาก็ไม่พอวินิจฉัยให้แจ้งชัดในประเด็นแห่งคดีได้จึงต้องอาศัยเหตุผลและหลักฐานแวดล้อมประกอบการวินิจฉัย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า การให้ผู้อื่นยืมที่ดินโดยยอมให้โอนใส่ชื่อผู้ยืมในโฉนดที่ดินนั้น เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปจะพึงกระทำนั้น ก็มีเหตุผลอยู่ แต่คดีนี้ได้ความตามทางพิจารณาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องกัน แม้ต่างมารดากันแต่ก็อยู่ร่วมบ้านเรือนเดียวกัน โจทก์อาจยอมเสียสละให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องก็อาจเป็นไปได้เพราะมิใช่คนอื่น และที่ว่าหากโจทก์เพียงแต่ให้จำเลยทั้งสองยืมที่ดินไปจำนองจำเลยทั้งสองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินโดยใช่เหตุ จำเลยทั้งสองคงไม่ทำเช่นนั้น ก็ยังไม่เพียงพอหักล้างเหตุผลที่การยอมดังกล่าวทำให้จำเลยทั้งสองได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แปลงหนึ่ง โดยจำเลยทั้งสองไม่มีทางเสียเปรียบโจทก์แต่อย่างใดและการยอมดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจยังไม่คิดไกลถึงเพียงนั้น เพราะในขณะนั้นจำเลยทั้งสองยังคงไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพียงใดส่วนเหตุผลที่โฉนดที่ดินพิพาท และหนังสือยินยอมของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตกอยู่แก่โจทก์นั้น โจทก์มีตัวโจทก์กับนายมงคล จันทร์สุขเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินพิพาทมามอบให้โจทก์ส่วนหนังสือให้ความยินยอมนั้นจำเลยที่ 2 ก็ได้ทำให้โจทก์ไว้ โดยนายมงคลได้ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือนั้นด้วย ต่อมาเมื่อมีการกู้เงินนายถาวร พุฒตาล โดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันโจทก์อ้างว่าตนเองเป็นผู้กู้โดยให้จำเลยที่ 1 กู้แทน เหตุผลก็น่าเชื่อไปในทางพยานโจทก์ตามที่โจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์นำเงินไปชำระให้นางเย็นแม่ยายนายถาวร นางเย็นก็คืนโฉนดให้โจทก์พร้อมทั้งสัญญากู้ ซึ่งปรากฏว่าทั้งโฉนดที่ดินพิพาทและสัญญากู้คงอยู่ที่โจทก์ดังที่โจทก์ส่งศาล ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าวางโฉนดที่ดินพิพาทไว้ที่แผงขายของ โจทก์หยิบเอาไป เหตุใดจำเลยที่ 1 จึงไม่ว่ากล่าวกับโจทก์โดยทันที โจทก์เอาโฉนดที่ดินพิพาทไปตั้งแต่วันที่นำเงินไปชำระให้นางเย็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 1ก็ไม่ได้บอกแก่จำเลยที่ 2 จนถึงเดือนเมษายน 2530 จำเลยที่ 2จึงถามจำเลยที่ 1 ถึงโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงบอกว่าอยู่ที่โจทก์ แล้วจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีว่าโจทก์ยักยอกโฉนดที่ดินพิพาท โดยแจ้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามให้คืนที่ดินแก่โจทก์แล้ว การที่โฉนดที่ดินพิพาท และหนังสือให้ความยินยอมของจำเลยที่ 2 อยู่กับโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองไม่มีข้อแก้ตัวที่สมเหตุผลประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการอย่างไรในการที่โฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ทวงที่ดินพิพาทคืนย่อมเป็นเหตุผลสนับสนุนคำเบิกความของพยานโจทก์ให้มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่า การโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำโดยเจตนาลวงเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เดิม (มาตรา 155ที่แก้ไขใหม่) ที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องโอนคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share