คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ ส. ตกลงซื้อขายพลอยกันที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาขลุงต่อหน้าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคาร แล้วโจทก์รับเช็คที่ ส. สั่งจ่ายเป็นค่าซื้อพลอยรวมเป็นเงิน 450,000 บาทเช็คดังกล่าวเป็นเช็คจำเลยที่ 1 สาขาขลุง และลงวันที่สั่งจ่ายในวันที่ซื้อขายกันนั้น จำเลยที่ 2 รับรองว่าเช็คดังกล่าวนำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้เพราะ ส. มีเงินอยู่ในบัญชีพอที่จะใช้เงินตามเช็ค แม้ความจริง ส. จะไม่มีเงินอยู่ในบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มีอำนาจผ่านเงินทางบัญชีให้ ส. ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไปก่อนได้ โจทก์จึงมอบเช็คดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ใช้เช็คสั่งจ่ายเงิน 400,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเข้าเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เมื่อเช็คดังกล่าวจำเลยสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเรียกเก็บเงินไม่ได้ และชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินทันทีในวันนั้นแต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธการจ่าย ถือได้ว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้ ดังนั้น การเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์จึงสมบูรณ์ และการที่โจทก์ใช้เช็คสั่งจ่ายเงิน 400,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเข้าเปิดบัญชีเงินฝากประจำก็เป็นการสมบูรณ์ด้วย
เมื่อจำเลยขีดฆ่ารายการที่โจทก์นำเช็คซึ่ง ส. ชำระหนี้ค่าพลอยเข้าบัญชี ออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และโอนเงินโจทก์จากบัญชีเงินฝากประจำไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยพลการ เป็นการไม่ชอบ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินตามเช็คดังกล่าวไปรวม 450,000 บาทจำเลยต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒ โจทก์ขายพลอยแดง ๑ เม็ดให้แก่นายสนิท สุริการ ในราคา ๔๕๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงซื้อขายกันที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาขลุง จำเลยที่ ๒ ผู้จัดการธนาคารอยู่และรู้เห็นด้วย นายสนิทชำระค่าพลอยด้วยเช็คจำเลยที่ ๑ สาขาขลุง ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒ โจทก์ถามจำเลยที่ ๒ ว่าเช็คที่นายสนิทสั่งจ่ายมีเงินในบัญชีพอจ่ายหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ว่ามีพอจ่ายโจทก์จึงขายพลอยให้นายสนิทและรับเช็คไว้ วันเดียวกันนั้นโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลยที่ ๑ โดยนำเช็คของนายสนิทจำนวนเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชี และจำเลยได้มอบสมุดเช็คให้โจทก์ไว้ และในวันเดียวกันนั้นโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประจำกับจำเลยที่ ๑ ด้วย โดยสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันจำนวนเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาทและนำเงินสดอีก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชี ต่อมาโจทก์ได้นำเงินสดจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท เข้าบัญชีเงินฝากประจำอีก และได้ถอนไปแล้ว ๑๐,๐๐๐ บาท คงเหลือเงินในบัญชีเงินฝากประจำ ๗๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ขอถอนเงิน ๗๔๙,๙๐๐ บาท จากบัญชีเงินฝากประจำ แต่จำเลยจะจ่ายให้เพียง ๒๙๙,๙๐๐ บาท โดยอ้างว่าเช็คของนายสนิทเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องตัดยอดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ออก ๔๕๐,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเช็คของนายสนิทสามารถเรียกเก็บเงินได้ จนจำเลยรับฝากเงินไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๔๕๐,๐๐๐บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม๒๕๒๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า การซื้อขายพลอยระหว่างโจทก์กับนายสนิท สุริการ จำเลยไม่เคยเกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้ทำกันที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาขลุงโจทก์ไม่ได้ถามจำเลยว่านายสนิทมีเงินในบัญชีพอจ่ายหรือไม่ และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้รับรองแก่โจทก์ว่านายสนิทมีเงินในบัญชีพอจ่าย ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒โจทก์นำเช็คของนายสนิทสั่งจ่ายเงินรวม ๔๕๐,๐๐๐ บาท ไปขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลยที่ ๑ และในวันนั้นโจทก์ขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำด้วย โดยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และนำเงินสดอีก ๓๐๐,๐๐๐ บาทมาเปิดบัญชี ต่อมาปรากฏว่าเช็คที่โจทก์นำมาเข้าบัญชีไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว และโจทก์ได้รับเช็คคืนไปแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทั้งไม่ได้บรรยายว่าได้รับความเสียหายอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละแปดต่อปี นับแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาทให้โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒ โจทก์กับนายสนิทไปตกลงซื้อขายพลอยกันที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ สาขาขลุง ต่อหน้าจำเลยที่ ๒ โจทก์รับเช็คเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ จากนายสนิทและสามารถนำเปิดเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้เพราะจำเลยที่ ๒ รับรองว่านายสนิทมีเงินอยู่ในบัญชีพอที่จะใช้เงินตามเช็คดังกล่าวได้ แม้ความจริงนายสนิทจะไม่มีเงินอยู่ในบัญชี แต่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ ๑ สาขาขลุง มีอำนาจผ่านเงินทางบัญชีให้นายสนิทซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไปก่อนได้ โดยถือว่านายสนิทขอเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวตามข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ข้อ ๑๐ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็เบิกความรับว่าเคยผ่านเงินทางบัญชีให้นายสนิทมาก่อนแล้ว ข้อที่จำเลยที่ ๒ เบิกความว่า เช็คเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อสิ้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒ และธนาคารทำใบคืนเช็คแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.๑๒ แผ่นที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ขัดต่อเหตุผลและแตกต่างกับคำของนายศรีพงษ์ พยานจำเลยเพราะเช็คดังกล่าวเป็นของนายสนิทซึ่งเป็นลูกค้าจำเลยที่ ๑ สาขาขลุง จำเลยที่ ๒ ย่อมตรวจสอบได้ทันทีว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินทันที ไม่จำต้องรอให้สิ้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๒ และนายศรีพงษ์เบิกความว่า เมื่อทำใบคืนเช็คตามเอกสารหมาย ล.๑๒ แผ่นที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว จำเลยที่ ๒ ว่ายังไม่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้อีกว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑และ จ.๒ ในวันดังกล่าว และถือได้ว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้การเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์จึงสมบูรณ์ และการที่โจทก์ใช้เช็คสั่งจ่ายเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเข้าเปิดบัญชีเงินฝากประจำก็เป็นการสมบูรณ์เช่นกัน ข้อที่จำเลยให้การและจำเลยที่ ๒ เบิกความทำนองว่า เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๓ โจทก์ถอนเงิน ๗๔๙,๙๐๐ บาท จากบัญชีเงินฝากประจำตามใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.๗ และนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามใบนำฝากเงินเอกสารหมาย จ.๙โจทก์คงเหลือเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำอีกเพียง ๑๐๐ บาท นั้น จำเลยที่ ๒ เบิกความว่าโจทก์ขอให้โอนเงิน ๗๔๙,๙๐๐ บาทจากบัญชีเงินฝากประจำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่ไม่มีหลักฐานการขอโอน คงมีแต่ใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.๗ ทั้งนายศรีพงษ์เบิกความว่า โจทก์ขอถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.๗ ธนาคารไม่ได้จ่ายเงินสดให้โจทก์ โดยทำเป็นแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.๘ แล้วโอนเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์การออกแคชเชียร์เช็คและโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งของลูกค้าต้องขอให้ธนาคารทำ ธนาคารไม่มีอำนาจทำโดยพลการ และนายธำรงพยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า การโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งต้องให้ลูกค้าเจ้าของบัญชียินยอมและมายื่นคำขอด้วย ประกอบกับจำเลยที่ ๒ เบิกความตอบทนายโจทก์ว่าแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.๘ โจทก์มิได้ขอให้ออก และมิได้เสียค่าธรรมเนียมจำเลยออกให้เองตามหน้าที่ ซึ่งโจทก์เบิกความว่า จำเลยไม่จ่ายเงิน ๗๔๙,๙๐๐ บาท ให้โจทก์ตามใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.๗ โจทก์มิได้ยินยอมให้จำเลยโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีอื่นใดทั้งสิ้น แคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.๘ และใบนำฝากเงินเอกสารหมาย จ.๙ โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจัดทำ เข้าใจว่าจำเลยจัดทำขึ้นเอง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำโจทก์จำเลยขีดฆ่ารายการที่โจทก์นำเช็คเอกสารหมาย จ.๑และ จ.๒ เข้าบัญชีออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และโอนเงินโจทก์จากบัญชีเงินฝากประจำไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยพลการเป็นการไม่ชอบ และเป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ ไปรวม ๔๕๐,๐๐๐ บาท จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share