แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เอาประกันภัยรถยนต์นำรถเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทรับขนโดยรับค่าจ้างเป็นรายเที่ยว ไม่ถือเป็นการรับจ้างหรือให้เช่ารถผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเพราะยังครอบครองรถและมีส่วนเสียร่วมกับบริษัทรับขนอยู่
ย่อยาว
โจทก์ที่ 1 นำรถเข้าเดินร่วมกับบริษัทรับขน โจทก์ขับรถชนกับรถของจำเลยที่ 2บริษัทรับประกันภัยโจทก์ที่ 2 ใช้ค่าทดแทนตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ที่ 1 แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 33,500บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 34,500 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 33,500 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ป.ข.00840 ซึ่งประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาทปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.2 ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยจ่าสิบโทศักดิ์ชาย ซึ่งรับราชการทหารอยู่ในขณะนั้นได้ขับรถยนต์ตรากงจักรคันหมายเลขทะเบียน 32052 ไปใช้ในการปฏิบัติราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 2 เจ้าของรถ จ่าสิบโทศักดิ์ชายขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ป.ข. 00840 ของโจทก์ที่ 1 เสียหายยับเยิน และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว คดีมีปัญหาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 นำรถไปใช้ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิรับช่วงสิทธิ มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าซ่อมรถจากจำเลยหรือไม่ และจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 ดังฟ้องเพียงใดหรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ในเรื่องการรับช่วงสิทธิและอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 แม้จะฟังว่าโจทก์ที่ 1 นำรถเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทประจวบขนส่ง จำกัดโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายเที่ยวก็ตาม ก็ยังไม่พอให้รับฟังว่า โจทก์ที่ 1 นำรถเข้ารับจ้างหรือให้เช่าซึ่งจะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย เพราะโจทก์ที่ 1 มีส่วนได้เสียร่วมกับบริษัทดังกล่าวและรถยนต์ก็ยังอยู่ในความครอบครองใช้ประกอบธุรกิจของโจทก์ที่ 1 อยู่ตามคำเบิกความของนายโชติ อายุการ ผู้จัดการแผนกประกันภัยของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้ยืนยันว่า โจทก์ที่ 1 ใช้รถผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยแต่กลับรับเอารถไปซ่อมและออกเงินค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 1แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ใช้รถผิดเงื่อนไข ฉะนั้นโจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิรับช่วงสิทธิและมีอำนาจฟ้อง จำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามฟ้องนั้นได้”
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 34,500 บาทกับดอกเบี้ย