แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489 มาตรา 3 กล่าวถึงการค้าข้าวไว้ว่าหมายถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือโอนกรรมสิทธิ์ข้าวรวมตลอดถึงการสีข้าว ทั้งนี้ นอกจากสำหรับบริโภคในครอบครัวฉะนั้นการที่จำเลยรับจ้างชาวบ้านสีข้าว แม้จะเอาค่าจ้างเพียงเล็กน้อยโดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีข้าวสารบริโภคก็ดีก็ได้ชื่อว่าเป็นการค้าข้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติการค้าข้าวแล้วจำเลยจึงต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489 เสียก่อน จึงจะทำการสีข้าวได้การที่จำเลยรับจ้างชาวบ้านสีข้าวโดยมิได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับจ้างสีข้าวเพื่อประโยชน์ในการค้าข้าวแทนนายนุช ทาวงศ์ และไม่แจ้งการเปลี่ยนเจ้าของและผู้จัดการใหม่เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานภายใน 15 วัน และจำเลยประกอบการค้าข้าวประเภทสีข้าว ในเขตควบคุมการค้าข้าวโดยใช้เครื่องจักร แต่มิได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติค้าข้าว พ.ศ. 2489 ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2499 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2482 มาตรา 15, 21 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 พระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 มาตรา 8, 9, 18 พระราชบัญญัติการค้าข้าว(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริงแต่ให้ลงโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นกระทงหนัก ปรับ 2,000 บาท ไม่ใช้ค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับโอนโรงสีโดยสุจริตเชื่อว่าเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ควรมีความผิดนั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจ้างทำการสีข้าวชาวบ้านนั้น ก็เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีข้าวสารใช้บริโภคได้โดยสะดวก ไม่ใช่สำหรับเอาไปซื้อขาย ไม่ใช่เป็นการค้าข้าว ไม่อยู่ในกับที่จะต้องจดทะเบียนประกอบการค้าข้าวประเภทโรงสีนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2489 มาตรา 3 กล่าวถึงการค้าข้าวไว้ว่า หมายถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือโอนกรรมสิทธิ์ข้าว รวมตลอดถึงการสีข้าว ทั้งนี้นอกจากสำหรับบริโภคในครอบครัว ฉะนั้น การที่จำเลยรับจ้างชาวบ้านสีข้าว แม้จะเอาค่าจ้างเพียงเล็กน้อย โดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีการบริโภคก็ดี ก็ได้ชื่อว่าเป็นการค้าข้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติการค้าข้าวแล้ว จำเลยจึงต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2489 เสียก่อน จึงจะทำการสีข้าวได้ การที่จำเลยรับจ้างชาวบ้านสีข้าวโดยมิได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิด
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย