แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยรับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรจาก ส. ขณะที่รับโอนมีบ่อหลุมตามฟ้องอยู่ในโรงแต่งแร่อยู่แล้ว และรับโอนมาภายหลังจากที่ประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ตพังงา ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2528) เรื่องการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ โดยกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ว่า สภาพของอาคารซึ่งใช้ในการเก็บแร่หรือมีแร่ไว้ในครอบครองของเหมืองจะต้องมีพื้นอาคารเทคอนกรีตและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินในบริเวณอาคารและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินที่พื้นนั้น การที่อาคารโรงแต่งแร่ของจำเลยมีบ่ออยู่ใต้พื้นซีเมนต์ถึง 3 บ่อ และเจ้าพนักงานได้ค้นพบแร่ดีบุกของกลางเก็บซ่อนไว้ในบ่อนั้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง จำเลยจะอ้างว่าบ่อดังกล่าวมีมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรไม่ได้ เพราะจำเลยได้รับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรมาแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจัดการแก้ไขและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของทางราชการ มิฉะนั้นก็จะเป็นทางให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายและประกาศดังกล่าวด้วยการโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรกันได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2529 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายต่างกรรมกัน กล่าวคือ จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ดีบุกที่เหมืองแร่บางส้ม จังหวัดพังงาประทานบัตรที่ 18882/12945 ได้ก่อสร้างพื้นซีเมนต์อาคารใช้ในการเก็บแร่ และมีไว้ในครอบครองของเหมืองและของเขตแต่งแร่เป็นบ่อกลมใต้พื้นซีเมนต์ ลึกประมาณ 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1.50 เมตร จำนวน 2 บ่อ บ่อสี่เหลี่ยมใต้พื้นซีเมนต์ ลึกประมาณ1 เมตร กว้าง 1 เมตรเศษ ยาว 4 เมตร จำนวน 1 บ่อ ซึ่งการก่อสร้างบ่อใต้พื้นซีเมนต์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ต พังงา ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528)เรื่อง กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่ และเขตแต่งแร่ และจำเลยได้บังอาจมีแร่ดีบุก จำนวน 23,091.47 กิโลกรัม ราคา5,077,352.42 บาท (คิดตามราคาที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ที่ใช้บังคับในวันกระทำผิด) ไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และมิได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายในเขตควบคุมแร่ และแร่ดีบุกดังกล่าวเป็นแร่ที่มิได้มาจากการทำเหมืองแร่ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ดีบุกขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 9 อัฏฐ, 105,172 ทวิ, 148, 154 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 3พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 3, 4, 8, 10, 12ประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ต พังงาฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) เรื่อง การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้เป็นเขตควบคุมแร่และแต่งตั้งผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และริบแร่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 9 อัฏฐ, 105, 132 ทวิ, 148, 154พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 3, 4,8, 10 12 ประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ตพังงา ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) เรื่อง การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้เป็นเขตควบคุมแร่และแต่งตั้งผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ฐานฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ตพังงา ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) ลงโทษปรับ 10,000 บาท ฐานมีแร่ดีบุกไว้ในความครอบครองเกินกว่า 2 กิโลกรัม โดยมิได้รับยกเว้นตามกฎหมายในเขตควบคุมแร่ซึ่งเป็นแร่ที่มิได้มาจากการทำเหมืองในเขตเหมืองแร่ที่เก็บแร่นั้นไว้ลงโทษปรับ 10,190,000 บาท รวมสองกรรมปรับ 10,200,000 บาท คำให้การชั้นจับกุมชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาลอยู่บ้างกรณีมีเหตุบรรเทาโทษจึงเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 6,800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบแร่ดีบุกของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 วรรคสอง ที่ได้แก้ไขแล้วนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ประจำเขตจังหวัดภูเก็ต พังงา ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) เรื่อง การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 อัฏฐ(2) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 ผู้อำนวยการโดยการเห็นชอบของคณะกรรมการเขตควบคุมแร่ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเขตเหมืองแร่และเขตแต่งแร่ไว้ในข้อ 6 แห่งประกาศดังกล่าวว่า สภาพของอาคารซึ่งใช้ในการเก็บแร่หรือมีแร่ไว้ในครอบครองของเหมือง จะต้องมีพื้นอาคารเทคอนกรีตและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินในบริเวณอาคาร และในข้อ 7 กำหนดว่าสภาพของอาคารซึ่งใช้ในการเก็บแร่หรือมีแร่ไว้ในครอบครองของเขตแต่งแร่ต้องมีพื้นอาคารเทคอนกรีตและไม่มีห้องหรือหลุมใต้ดินที่พื้นนั้น เมื่อจำเลยรับโอนประทานบัตรและกิจการเหมืองแร่มาจาก ส.หลังจากประกาศดังกล่าวข้างต้นมีผลใช้บังคับแล้ว การที่อาคารโรงแต่งแร่ของจำเลยมีบ่ออยู่ใต้พื้นซีเมนต์ถึง 3 บ่อ และเจ้าพนักงานได้ค้นพบแร่ดีบุกของกลางเก็บซ่อนไว้ในบ่อดังกล่าว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง จำเลยจะอ้างว่าบ่อดังกล่าวมีมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรมาไม่ได้ เพราะเมื่อจำเลยได้รับโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรมาแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจัดการแก้ไขและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของทางราชการ มิฉะนั้นก็จะเป็นทางให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายและประกาศดังกล่าวด้วยการโอนกิจการเหมืองแร่และประทานบัตรกันได้ ทั้งประกาศดังกล่าวก็มิได้ยกเว้นไม่ใช้บังคับถึงหลุมบ่อที่มีอยู่ก่อน…”
พิพากษายืน.