คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์และจำเลยมีเขตติดต่อกันโดยที่ดินโจทก์อยู่ทางทิศเหนือของที่ดินจำเลย โจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยนานเกิน 10 ปี ทางพิพาทจึงเป็นทางภารจำยอมโจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาททั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นให้แคบลงกว่าเดิมและปิดในเวลากลางคืน เพราะเป็นการประกอบกรรมอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งโจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ด้านทิศใต้จดที่ดินจำเลยโจทก์และบุคคลอื่นที่มีที่ดินอยู่ใกล้เคียงกันได้ใช้ทางเดินทางล้อเกวียนและรถยนต์เข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยมานานประมาณ 60 ปีจนได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความเป็นทางกว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 20 วา จากซอยต้นผูเข้าบ้านโจทก์ จำเลยได้ใช้ไม้ปิดกั้นทางเดินดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางเดินให้มีความกว้าง 3 วาตลอดเส้นทางจากซอยต้นผูถึงที่ดินโจทก์ ห้ามไม่ให้จำเลยและบริวารปิดกั้นทางเดินอีกต่อไป จำเลยให้การว่า ที่ดินจำเลยมีบ้านปลูกอยู่ 2 หลัง ด้านทิศใต้ ตะวันออก และตะวันตก มีรั้วล้อมมานานหลายสิบปี ส่วนทางด้านทิศเหนือซึ่งติดกับที่ดินโจทก์ จำเลยล้อมรั้วเมื่อปี 2528 รั้วด้านทิศใต้ติดกับซอยต้นผู เป็นรั้วไม้ไผ่มีประตูทำด้วยไม้และสังกะสีเปิดปิดได้ จากประตูรั้วดังกล่าวเป็นทางเดินผ่านที่ดินจำเลยไปยังบ้านจำเลยและบ้านโจทก์กว้าง1.50 เมตร ยาว 28 เมตร โจทก์ใช้ทางดังกล่าวมาประมาณ 20 กว่าปีแล้วเป็นทางเดินไม่ใช่ทางเกวียนหรือรถยนต์ เมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี้ โจทก์เคยนำเกวียนผ่านทางโดยได้รับอนุญาตผ่านเป็นการชั่วคราวเพราะต้องรื้อรั้วออกชั่วคราว ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภารจำยอมที่จะใช้เกวียนผ่านเข้าออกได้ ประตูรั้วปากทางพิพาทซึ่งติดกับซอยต้นผูมีมานานหลายปีแล้ว ประตูเปิดไว้ตลอดวันส่วนกลางคืนปิดไว้โดยไม่ได้ใส่กุญแจและยังคงผ่านเข้าออกได้โดยเปิดประตูเอง ที่ปิดเวลากลางคืนเพื่อป้องกันทรัพย์สินและไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านจำเลยไม่ทำให้การใช้ทางพิพาทไม่สะดวกหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ตลอดมา ต่อมาโจทก์จำเลยมีสาเหตุกัน จำเลยจึงล้อมรั้วปิดทางพิพาทด้านทิศเหนือที่ติดกับที่ดินของโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยก็ได้เปิดทางให้กว้างเท่าสภาพเดิมแล้วคือ 1.50 เมตร โจทก์ไม่พอใจจะให้เปิดกว้างถึง 6 เมตร บัดนี้โจทก์ไม่ยอมใช้ทางพิพาทร่วมกับจำเลยโจทก์ใช้เส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางเดินพิพาทให้มีความกว้าง 3 เมตร25 เซนติเมตร ตลอดเส้นทางจากซอยต้นผูถึงที่ดินโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยปิดกั้นทางเดินอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางพิพาทได้อีก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาประการแรกที่ว่าทางพิพาทมีความกว้างเท่าใด โจทก์มีนายเผือน พลกลาง นางเวิน พลกลาง นายอนันต์บุญโล้น และนายชัยยุทธ บุญโล้น เป็นพยานต่างเบิกความต้องกันกับโจทก์ว่า เดิมบิดาโจทก์เคยใช้เกวียนขนข้าวที่ปลูกได้ผ่านทางพิพาทเข้าบ้าน โดยเฉพาะโจทก์ยังเบิกความอีกว่า ทางพิพาทมีความกว้าง 3 เมตร กับ 10 นิ้วฟุต โดยมีสิ่งที่แสดงความกว้างคือ ต้นมะพร้าวที่ปลูกอยู่ริมทางพิพาททั้งสองข้าง ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้เกวียนผ่านที่พิพาทนั้น จำเลยยอมรับมาในคำให้การตอนหนึ่งว่า โจทก์เคยนำเกวียนผ่านทางพิพาทเมื่อ 5-6 ปีก่อนดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ไม่เคยนำเกวียนผ่านทางพิพาทจึงขัดกับคำให้การของจำเลยเอง ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าโจทก์เคยนำเกวียนผ่านทางพิพาทจริง แต่ปัจจุบันเท่าที่จำเลยเปิดทางพิพาทเพียง 1.50 เมตร เกวียนผ่านไม่ได้เพราะประตูรั้วแคบจากสภาพทางพิพาทที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 กันยายน 2529 มีต้นมะพร้าวที่เป็นแนวเขตสองข้างทางมีความกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตรขึ้นไป และนายทองเปี่ยม สาระขวัญพยานจำเลยผู้ไกล่เกลี่ยให้จำเลยเปิดทางพิพาทเบิกความว่าไกล่เกลี่ยแล้วจำเลยยอมเปิดทางบางส่วน แสดงว่าเปิดไม่เต็มที่ เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานจำเลย เชื่อได้ว่าทางพิพาทมีความกว้าง 3 เมตร 10 นิ้วฟุต หาใช่ 1.50 เมตร ตามที่จำเลยเปิดไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองที่ว่า จำเลยมีสิทธิทำรั้วปิดกั้นทางพิพาทในเวลากลางคืนหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม ซึ่งโจทก์มีสิทธิใช้ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางพิพาททั้งเวลากลางวันและกลางคืนตามสภาพทางเดิมที่เคยใช้มา จำเลยจึงไม่มีสิทธิทำรั้วปิดกั้นให้แคบลงกว่าเดิมและปิดในเวลากลางคืน เพราะเป็นการประกอบกรรมอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share