แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อและขายที่ดิน แต่ในการเสียภาษี จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานของโจทก์โดยยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและผ่อนชำระภาษี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันการชำระนี้ แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามติดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบเลยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่ได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อนจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้องแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินในราคา 50,400,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายที่ดินดังกล่าวเป็นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นรวม2,627,856 บาท และยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและขอผ่อนชำระภาษีอากรเป็น 12 งวด ชำระด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 12 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่าย และได้ยื่นหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการค้ำประกันผูกพันตนว่าจะชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่อนุมัติ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระภาษีอากรเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีอากรที่คงค้างที่เหลือเป็น 6 งวด ชำระด้วยเช็คของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันเจ้าพนักงานของโจทก์อนุมัติ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระภาษีอากรเรื่อยมาแต่ในการชำระ 2 งวด สุดท้ายโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็ค 2 ฉบับได้รวม 371,655 บาท สำหรับคำร้องของดเบี้ยปรับนั้น โจทก์อนุมัติให้ลดเบี้ยปรับลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับที่ต้องชำระต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์บางส่วน โจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักชำระเป็นเบี้ยปรับและภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นคงเหลือ 659,135.74 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ค้างชำระตามมาตรา 91/21 ประกอบกับมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องชำระภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มคิดถึงวันฟ้องรวม 1,103,637.82 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,103,637.82 บาท พร้อมกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ 235,980 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มที่คำนวณได้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็นตัวแทนเชิดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อขายที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันในฐานะส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ทำไว้กับโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่อาจนำมาฟ้องร้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ จึงเป็นการยอมรับต่อเจ้าพนักงานของโจทก์เองว่า จำเลยที่ 1 มีรายรับอันเนื่องมาจากการขายที่ดินและประสงค์จะเสียภาษีต่อเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 จะมาปฏิเสธภายหลังให้ขัดแย้งต่อเอกสารไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนที่ทำสัญญาซื้อขาย โดยได้เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 มีโครงการจัดสรรที่ดินโฉนดเลขที่ 2097, 2098, 2099, 47084 และ 49101 ที่ดินดังกล่าวเป็นของนายธีรศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร โดยนายธีรศักดิ์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 แต่ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 3 ได้นำจำเลยที่ 1 ไปสำนักงานที่ดิน แล้วให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารทำนิติกรรม 4 ครั้ง เป็นการไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคาร แล้วนายธีรศักดิ์นำที่ดินขายให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอ เอฟ ซี ที ไฟแนนซ์ จำกัด จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินซื้อที่ดินจากนายธีรศักดิ์ การขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 ก็มิได้รับเงินเนื่องจากเป็นการทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 1 ว่าการที่จำเลยที่ 3 ไม่ไปทำการรับโอนที่ดินจากนายธีรศักดิ์เองก็เพื่อทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อและขายที่ดินดังกล่าว แต่หลังจากทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานของโจทก์โดยยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและผ่อนชำระภาษี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คงวดที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์ในงวดที่ 8 ถึง 12 ไม่ได้ เจ้าพนักงานของโจทก์จึงแจ้งจำเลยทั้งสามให้นำเงินมาชำระแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามติดต่อโจทก์ ไม่ว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันก็ดี ในชั้นที่เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ก็ดี จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบเลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่ได้รู้ข้อเท็จจริงมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนจำเลยที่ 3 แล้วขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2อันเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้องแก่โจทก์ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่มเบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,103,637.82 บาท แก่โจทก์ แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้นได้ความตามคำเบิกความของนายฉลอง คำเพ็ง เจ้าพนักงานประเมินพยานโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ระบุยอมรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงรับผิดต่อโจทก์ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ แต่สำหรับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำกับโจทก์มิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินภาษี เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,103,637.82 บาท แก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินภาษี 235,980 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแต่จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวน 235,980 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระค่าภาษีส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มดังกล่าว หากจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์