คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา เมื่อจำเลยรู้ดีว่า เมื่อตนผิดสัญญา โจทก์จะต้องเสียหาย ดังนี้จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 380 วรรค 2 ซึ่งศาลอาจจะให้ค่าเสียหายได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา 1,000 บาท และค่าเสียหายจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 7000 บาท ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 1000 บาท โจทก์อุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์เห็นควรให้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมกัน 7,000 บาท ดังนี้ จะเรียกว่าศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยในเรื่อง 1000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ไม่ได้
เมื่อมีกรณีผิดสัญญาแล้ว ก็ย่อมเรียกค่าเสียหายแก่กันได้ ถ้าผู้ได้รับความเสียหายพิสูจน์ได้ว่าตนได้เสียหายจริงจังเป็นเงินเท่าใดแล้ว ศาลก็ให้ตามนั้น หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ให้ค่าเสียหายตามควรแก่กรณีโดยศาลกำหนดให้เองแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร และผู้เสียหายอาจได้รับค่าเสียหายทั้งสองประเภทก็ได้
คดีนี้โจทก์ต้องเสียหายเพราะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างไป และต้องเสียหายเพราะไม่ได้ที่ดิน โจทก์ชอบที่จะได้ค่าเสียหายทั้งสองรวมกันเป็น 8, 000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะแบ่งขายที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับมัดจำไว้จากโจทก์ และสัญญาว่าถ้าไม่โอนที่ดินให้ตามกำหนดแล้ว ยอมให้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๑,๐๐๐ บาท ก่อนที่จะมีสัญญาซื้อขายนี้โจทก์ได้ค่าเช่าที่ดินนี้อยู่ เมื่อทำสัญญาแล้ว จำเลยได้ให้โจทก์ครอบครองที่ดินดุจที่ดินนั้นเป็นของโจทก์ คือยกเลิกสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ โจทก์จึงได้ปลูกเรือน ๑ หลัง โรงควาย ๑ หลัง ทำถนน ๑ สาย ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำที่รายเดียวกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ใช้ค่ารื้อถอนเรือน โรงคาย และค่าทำถนน รวม ๗๐๐๐ บาท ค่าเสียหายตามสัญญา ๑๐๐๐ บาท
ศาลแพ่งเห็นว่า จำเลยเอาที่รายนี้ไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยต้องคืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายทั้งหมด ๗,๐๐๐ บาท ค่าเสียหาย ๑๐๐๐ บาทที่ศาลแพ่งให้จำเลยใช้, ให้ยกเสีย
โจทก์, จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รูปคดีฟังได้ว่า จำเลยได้ทราบว่าโจทก์จะทำการปลูกสร้าง ซึ่งหมายความว่าจำเลยรู้ดีว่า เมื่อตนผิดสัญญา โจทก์จะต้องเสียหาย เพราะได้ปลูกสร้างนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายเหล่านี้ กรณีเข้า ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๓๘๐ วรรค ๒ ซึ่งศาลอาจจะให้ค่าเสียหายสำหรับสิ่งปลูกสร้างนี้ได้
เรื่องค่าเสียหาย ๑๐๐๐ บาทที่ศาลแพ่งให้นั้น โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายขอเพิ่มอีก ๗๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรให้รวมกัน ๗๐๐๐ บาท เป็นการวินิจฉัยว่า เท่าที่ศาลแพ่งให้ ๑๐๐๐ บาท ยังไม่เพียงพอ จึงเพิ่มให้ จะเรียกว่าศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยในเรื่อง ๑๐๐๐ บาทที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ไม่ได้
ค่าเสียหายแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ค่าเสียหายในกฎหมาย และค่าเสียหายที่ได้เสียหายจริงจัง กล่าวคือ เมื่อมีกรณีผิดสัญญาแล้ว ก็ย่อมเรียกค่าเสียหายแก่กันได้ ถ้าผู้ได้รับความเสียหายพิสูจน์ได้ว่า ตนเสียหายจริงจังเป็นเงินเท่าใดแล้ว ศาลก็ให้ตามนั้น หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ให้ค่าเสียหายตามสมควรแก่กรณี โดยศาลกำหนดให้เองแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร และผู้เสียหารอาจได้รับความเสียหายทั้งสองประเภทก็ได้ กฎหมายไม่ได้จำกัดว่าจะได้แต่ประเภทเดียว เช่นเรื่องทำร้ายร่างกาย นอกจากผู้ถูกทำร้ายจะได้รับค่าแพทย์ ค่ายา ยังอาจได้ค่าเสียหายในการที่ถูกทำร้าย และทนทุกข์ทรมานด้วย คดีนี้โจทก์ต้องเสียหาย เพราะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างไป และต้องเสียหายเพราะไม่ได้ที่ดิน ค่าเสียหายประเภทแรก โจทก์สืบได้ความว่า ๗,๐๐๐ บาท ส่วนเบี้ยปรับ ๑,๐๐๐ บาท ที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้สำหรับค่าเสียหายประเภทหลัง โจทก์ชอบที่จะได้ค่าเสียหายนั้นทั้งสองจำนวน
พิพากษาแก้ ฉะเพาะในจำนวนค่าเสียหายเป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท นอกนั้นยืน

Share