คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกันซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาเพื่อขายเอากำไรแบ่งกัน โดยนำเงินที่ลงหุ้นกันจำนวน 2,110,000 บาท และเงินส่วนตัวโจทก์อีก 600,000 บาท มาชำระค่าที่ดินเพิ่มเติม เช่นนี้ เงินจำนวน 600,000 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญไปก่อน หาใช่เป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมอันจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไม่
การเข้าหุ้นซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และจำเลยมาเพื่อขายนั้น เป็นการเข้าหุ้นกันเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว เมื่อขายที่ดินทั้งสองแปลงได้แล้ว การเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (3) และหลังจากขายที่ดินแล้วจำเลยได้แบ่งกำไรจากการขายที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท และมีการทำบัญชีไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้มีการคิดบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว ไม่มีทรัพย์สินในระหว่างหุ้นส่วนหรือหนี้สินใดที่จะต้องจัดการกันอีก ถือได้ว่ามีการตกลงกันให้การจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 หาใช่ต้องจัดให้มีการชำระบัญชีเสมอไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินกำไรและเงินทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยตกลงเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 และโฉนดเลขที่ 15867 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อจะขายแบ่งปันกำไรกัน ต่อมาโจทก์และจำเลยขายที่ดินดังกล่าว โดยจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาเงินไว้ เมื่อหักเงินกองกลางและเงินยืมแล้ว ต้องแบ่งกำไรให้โจทก์แต่จำเลยคงค้างชำระจำนวน 1,282,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,763,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,282,500 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยเข้าหุ้นลงทุนซื้อที่ดินทั้งสองแปลง และจำเลยไม่เคยยืมเงินโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 และโฉนดเลขที่ 15867 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์กับจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าที่ดินมาเป็นเวลา 20 ปี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 โจทก์กับจำเลยเข้าหุ้นซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15867 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมบ้าน 1 หลัง ในราคา 1,260,000 บาท และวันที่ 11 มกราคม 2533 เข้าหุ้นกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ในราคา 1,450,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยนำเงินที่โจทก์และจำเลยได้มาจากการเข้าหุ้นซื้อที่ดินและทำหมู่บ้านจัดสรรกับเงินส่วนตัวของโจทก์มาเพิ่มอีก 600,000 บาท และโจทก์มีนายแดงซึ่งเป็นญาติกับโจทก์และจำเลยมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อปี 2532 นายธวัชได้นำที่ดินมาขายให้แก่พยานแต่พยานเห็นว่าเป็นที่ดินแปลงเล็กจึงให้โจทก์กับจำเลยซื้อ ในวันทำสัญญาซื้อขายจำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 1,260,000 บาท มอบให้พยานไปเบิกเงินจากธนาคารมาจ่ายค่าที่ดิน โดยเงินที่พยานไปเบิกจากบัญชีเป็นเงินที่โจทก์และจำเลยเข้าหุ้นกัน และในปี 2533 นายกิตติได้เสนอขายที่ดินให้พยานแต่พยานให้โจทก์และจำเลยซื้อไว้ในราคา 1,450,000 บาทโดยโจทก์และจำเลยนำเงินกองกลางที่เข้าหุ้นกันมาซื้อแต่เงินไม่พอจ่ายจึงนำเงินของโจทก์จำนวน 600,000 บาท มาซื้อที่ดินดังกล่าวด้วย เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานว่าได้นำเงินมาลงทุนเข้าหุ้นกับจำเลยเพื่อซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาขายเอากำไร แต่ได้ความว่าโจทก์กับจำเลยเป็นพี่น้องกันเคยเข้าหุ้นกันซื้อขายที่ดินมาก่อน และโจทก์ยังมีนายแดงซึ่งเป็นญาติของโจทก์และจำเลยมายืนยันว่าโจทก์และจำเลยเข้าหุ้นกันซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้เพื่อหากำไร โดยเฉพาะนายแดงนอกจากไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดแล้ว นายแดงยังรู้เห็นการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้ของจำเลยด้วย ย่อมเบิกความตามความจริง ทั้งจำเลยได้ตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า จำเลย นายแดงและโจทก์เคยเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินเพื่อขายมาก่อนที่จะมีการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้และได้ให้นายแดงเป็นผู้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารมาจ่ายค่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 15867 แสดงว่านายแดงรู้เห็นการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้เจือสมข้อนำสืบของโจทก์ และจำเลยได้เบิกความว่า หลังจากขายที่ดินทั้งสองแปลงได้กำไรแล้ว จำเลยได้แบ่งเงินกำไรให้แก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท ย่อมสนับสนุนให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมากขึ้น ส่วนจำเลยอ้างเพียงว่านำเงินมาจากการกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันมาจ่ายค่าที่ดินเท่านั้น แต่ยอมรับว่าบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวมีนายแดงทำสัญญาค้ำประกันไว้ ซึ่งนายแดงก็เบิกความว่า บัญชีเงินฝากที่จ่ายค่าที่ดินเป็นเงินที่โจทก์และจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกันซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาเพื่อขายเอากำไรแบ่งกัน โดยนำเงินที่ลงหุ้นกันจำนวน 2,110,000 บาท และเงินส่วนตัวโจทก์อีก 600,000 บาท มาชำระค่าที่ดินเพิ่มตามที่โจทก์อ้าง เช่นนี้ เงินจำนวน 600,000 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญไปก่อน หาใช่เป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมอันจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไม่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเงินกำไรและเงินทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญจากจำเลยหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า การเข้าหุ้นซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และจำเลยมาเพื่อขายนั้น เป็นการเข้าหุ้นกันเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว เมื่อขายที่ดินทั้งสองแปลงได้แล้ว การเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (3) และได้ความจากจำเลยว่า หลังจากขายที่ดินทั้งสองแปลงแล้วได้แบ่งกำไรจากการขายที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท และมีการทำบัญชีไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้มีการคิดบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว ไม่มีทรัพย์สินในระหว่างหุ้นส่วนหรือหนี้สินใดที่จะต้องจัดการกันอีก ถือว่าได้มีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 หาใช่ต้องจัดให้มีการชำระบัญชีเสมอไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินกำไรและเงินทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญจากจำเลยได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเงินกำไรและเงินทดรองจ่ายเพียงใด ในประเด็นนี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีได้มีการสืบพยานหลักฐานมาครบถ้วนแล้วจึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นว่า โจทก์และจำเลยลงหุ้นกันซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 2,110,000 บาท และโจทก์ใช้เงินส่วนตัวทดรองจ่ายเพิ่มอีก 600,000 บาท และโจทก์อ้างว่าจำเลยขายที่ดินทั้งสองแปลงในราคาตารางวาละ 28,000 บาท เมื่อหักค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายแล้วได้เงินจำนวน 7,075,000 บาท มีกำไรจำนวน 4,365,000 บาท แบ่งแล้วโจทก์จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจำนวน 2,182,500 บาท แต่จำเลยชำระให้เพียง 1,500,000 บาท ส่วนจำเลยเบิกความว่า ได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงไปในราคา 7,924,000 บาท เสียภาษี 530,000 บาท ให้ค่านายหน้าเป็นส่วนเกินตารางวาละ 3,000 บาท รวมเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 849,000 บาท เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยเมื่อนำเงินค่าใช้จ่ายมาหักจากเงินที่ได้จากการขายที่ดินทั้งสองแปลงจะเหลือเงินสุทธิ 7,075,000 บาท และเมื่อหักตันทุนที่โจทก์และจำเลยเข้าหุ้นส่วนกันจะเหลือกำไรจำนวน 4,365,000 บาท แบ่งแล้วจะได้กำไรคนละ 2,182,500 บาท เจือสมข้อนำสืบของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่าจำเลยจ่ายกำไรให้โจทก์แล้วจำนวน 1,500,000 บาท จึงเหลือกำไรที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์อีก 682,500 บาท และจำเลยจะต้องคืนเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายเป็นค่าที่ดินเพิ่มอีก 600,000 บาท รวมแล้วจำเลยจะต้องคืนเงินให้โจทก์ 1,282,500 บาท แต่โจทก์นำสืบว่า เงินจำนวน 600,000 บาท โจทก์ให้จำเลยนำไปลงทุนในโครงการอื่นก่อนและโจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามขอคืนเงินกำไรส่วนที่เหลือและเงินจำนวน 600,000 บาท ที่โจทก์ออกค่าซื้อที่ดินเพิ่มเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ให้ชำระภายใน 3 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันผิดนัด วันที่ 29 กรกฎาคม 2541 หาใช่วันที่จำเลยได้รับค่าที่ดินมาดังที่โจทก์อ้าง”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,282,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share