คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ปรากฏว่ากรณีเดียวกันนี้จำเลยที่ 1 เคยถูกผู้ว่าคดีฟ้องเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีอาญานั้นโจทก์คดีนี้มิใช่เป็นผู้รับบาดเจ็บจากการที่รถชนกัน และคดีอาญาที่เกี่ยวกับการกระทำผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีได้ ผู้ว่าคดีจึงไม่อยู่ในฐานะฟ้องคดีอาญาแทนโจทก์ ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ เพราะโจทก์มิใช่เป็นคู่ความเดียวกันในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ขอศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาทกรณีเดียวกันนี้จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องทางอาญาที่ศาลแขวงพระนครใต้ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความจริง เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคนขับรถโจทก์เอง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายมากกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุที่เกิดเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 เรียกร้องเกินความจริง ฟ้องแย้งขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกผู้ว่าคดีฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้และศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งศาลจำเป็นต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญานั้นมาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้หรือไม่นั้น สำหรับโจทก์คดีนี้มิใช่เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากมูลกรณีที่รถชนกัน และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกโจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีได้ ฉะนั้น ผู้ว่าคดีจึงไม่อยู่ในฐานะฟ้องความแทนโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว ผลแห่งคำพิพากษาในคดีอาญานั้นจึงไม่ผูกพันโจทก์ เพราะโจทก์มิใช่เป็นคู่ความรายเดียวกัน จึงต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงคดีนี้กันไปใหม่

แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนกับรถของโจทก์เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างก็มีหน้าที่ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย

พิพากษายืน

Share