คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์และให้โจทก์ชำระค่าที่ดินตอบแทนแก่จำเลยโดยให้โจทก์มีสิทธิหักเงินค่าเสียหายรายเดือนจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างมีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่กัน ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่ต้องนำเงินมาชำระราคาที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระ จำเลยที่ 1 ย่อมขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาส่วนนี้ได้
จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินพิพาทมาวางศาลเพื่อให้โจทก์มารับไปจดทะเบียนโอนตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์รับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทพร้อมกับชำระเงินค่าที่ดินตอบแทนภายในวันที่ 18 ตุลาคม2541 โดยให้โจทก์มีสิทธินำเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษามาหักชำระค่าที่ดินได้ หากโจทก์ไม่ดำเนินการภายในกำหนดถือว่าผิดนัด ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งนอกเหนือคำบังคับจึงไม่ชอบเพราะนอกเหนือคำพิพากษาและโจทก์มิได้ตกลงด้วย หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างไร ชอบที่จะขอออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นได้ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 26 ธันวาคม2540 บังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 94ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก่โจทก์พร้อมกับให้โจทก์ชำระค่าที่ดิน 6,000,000 บาท ตอบแทนแก่จำเลยที่ 1โดยให้โจทก์มีสิทธิหักเงินค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คดีถึงที่สุดโดยไม่มีอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องชำระแทนโจทก์จำนวน 80,000 บาท พร้อมโฉนดที่ดินพิพาทมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1ได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องชำระแทนโจทก์เพิ่มอีก 105,025 บาทมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ ในวันเดียวกันนั้นเองศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1มาวางศาลภายใน 30 วัน เมื่อนำเงินค่าที่ดินมาวางศาลแล้วให้โจทก์รับโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนตามคำพิพากษาต่อไป พร้อมกับให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินและค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาลแล้วต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาปฏิบัติตามคำบังคับออกไป 6 เดือน เนื่องจากโจทก์หาเงินมาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ไม่ทัน โจทก์ไม่ขอรับเงินค่าเสียหายเดือนละ40,000 บาท นับจากวันที่ 22 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 28พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2541

ครั้นวันที่ 24 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดไม่ยอมรับโอนที่ดินตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์สละสิทธิ์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมวันที่ 14 กันยายน 2541 เมื่อถึงวันนัด โจทก์และทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาล โจทก์แถลงขอขยายระยะเวลานำเงินมาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 2 ปีนับแต่วันที่ 14 กันยายน 2541และยังติดใจที่จะบังคับเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 แถลงว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำเงินที่โจทก์นำมาชำระค่าที่ดินพิพาทไปชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ตามจำนวนเงินราคาที่ดินที่จำเลยที่ 2 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้โจทก์รับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทพร้อมกับชำระเงินค่าที่ดิน 6,000,000 บาท ตอบแทนจำเลยที่ 1ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2541 โดยให้โจทก์มีสิทธินำค่าเสียหายตามคำพิพากษามาหักชำระค่าที่ดินได้ หากโจทก์ได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดนัดไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีเท่านั้นมีสิทธิบังคับคดีได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิบังคับคดีนั้น เห็นว่า กรณีตามคำพิพากษาในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างมีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่กัน ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ดำเนินการบังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่ต้องนำเงินจำนวน 6,000,000 บาท มาชำระราคาที่ดินแก่จำเลยที่ 1ไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระ จำเลยที่ 1 ย่อมชอบที่จะร้องขอต่อศาลขอให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาในส่วนนี้ได้ และเมื่อศาลได้ออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วโจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 ส่วนโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ย่อมชอบที่จะร้องขอต่อศาลขอให้ดำเนินการบังคับคดีให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ภายในสิบปีเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 1ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2541 ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะนำโฉนดที่ดินพิพาทมาวางศาลเพื่อให้โจทก์มารับไปจดทะเบียนโอนตามคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์รับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทพร้อมกับชำระเงินค่าที่ดิน 6,000,000 บาท ตอบแทนจำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2541 โดยให้โจทก์มีสิทธินำเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษามาหักชำระค่าที่ดินได้ หากโจทก์ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดนัด ไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไปนั้น เป็นคำสั่งนอกเหนือคำบังคับเป็นการไม่ชอบเพราะเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะถือว่าโจทก์ผิดนัดหรือสละสิทธิในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ได้ เพราะเป็นการนอกเหนือคำพิพากษาและโจทก์มิได้ตกลงด้วย หากจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างไร จำเลยที่ 1 ชอบที่จะดำเนินการขอออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นได้ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม2541

Share