แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาอุทธรณ์และโต้แย้งในคำฟ้องฎีกาว่า นับแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาโจทก์ติดต่อขอคัดสำเนาคำพิพากษามาตลอดแต่ไม่สามารถคัดได้โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสำนวนยังไม่มาโจทก์เพิ่งได้รับก่อนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งหากทางปฏิบัติของศาลชั้นต้นเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และในคำฟ้องฎีกาดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้การที่ศาลชั้นต้นเพียงพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษโดยมิได้ทำการไต่สวนจึงเป็นการด่วนวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1),247 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับคดีครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์วันที่ 5 มีนาคม 2544 ในวันเดียวกันนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน อ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษกล่าวคือ นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโจทก์ติดต่อขอคัดสำเนาคำสั่งของศาลชั้นต้นมาตลอดเพิ่งจะได้รับสำเนาคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดกับวันครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ประกอบกับโจทก์จะต้องใช้เวลาทำคำฟ้องอุทธรณ์และเสนอรายงานให้กรรมการของโจทก์อนุมัติ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน ในวันที่ 5 มีนาคม 2544 เป็นการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งขยายระยะเวลาให้ได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 คดีนี้เสร็จการพิจารณาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้รอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันนี้ ทนายโจทก์รับทราบคำสั่งศาลชั้นต้นและลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา โจทก์บรรยายในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ว่า “คดีนี้ศาลได้มีคำสั่ง/คำพิพากษา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ได้ติดตามขอคัดสำเนาคำสั่ง/คำพิพากษาของศาลมาตลอด แต่โจทก์เพิ่งจะได้รับสำเนาคำสั่ง/คำพิพากษาของศาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544…” และยังโต้แย้งในคำฟ้องฎีกาอีกว่า “…แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544แต่ความจริงโจทก์ยังไม่อาจทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันดังกล่าวได้ ต่อมาโจทก์ติดตามขอคัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งมาตลอด แต่ไม่สามารถขอคัดได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสำนวนนี้ยังไม่มาที่ห้องเก็บสำนวน ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลหากพบสำนวนคดีและเอกสารที่ขอคัด เจ้าหน้าที่ศาลก็จะให้คู่ความที่เกี่ยวข้องในคดีลงรายละเอียดในแบบฟอร์มขอคัดสำเนาโดยไม่ต้องยื่นคำแถลงต่อศาล…” จากข้ออ้างของโจทก์ทั้งในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และในคำฟ้องฎีกาดังกล่าว หากระเบียบปฏิบัติของศาลชั้นต้นเป็นความจริงตามนั้นและโจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำสั่งในวันที่ 2 มีนาคม 2544 ตามสำเนาคำแถลงขอคัดเอกสารท้ายคำฟ้องอุทธรณ์จริง ก็ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ แต่การที่ศาลชั้นต้นเพียงพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษโดยมิได้ทำการไต่สวนจึงเป็นการด่วนวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1), 247 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14″
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี