คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งสามชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดย ฉ. ผู้ประกันได้วางหลักประกันเป็นเงินสด 60,000 บาท และทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ฉ. มาขอหลักประกันคืน ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้คืนหลักประกันแก่ผู้ประกัน ดังนี้ พนักงานอัยการจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับสัญญาประกันนั้นมีเฉพาะกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันแต่เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันของ ฉ. สิ้นสุดลงแล้ว อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันก็ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอฝากขังผู้ต้องหา 3 คน (จำเลยทั้งสามในคดีนี้) ในระหว่างการสอบสวนในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (กัญชา) ในวันเดียวกันนายฉัตรแก้ว ผดุงชีวิตได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งสามชั่วคราวระหว่างสอบสวนโดยยื่นหลักประกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยเรียกหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท ผู้ประกันได้วางเงินสดรวม 60,000 บาท และทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้น ในชั้นที่ผู้ประกันยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าให้ผู้ประกันนำจำเลยที่ 1 มาสอบถามในชั้นที่ผู้ประกันมาขอคืนหลักประกัน เนื่องจากได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าเงินหลักประกันอาจเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มอบให้ผู้ประกันไว้ หลังจากการสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งได้ให้การรับสารภาพ ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ประกันซึ่งเป็นทนายความของจำเลยทั้งสามด้วยได้ยื่นคำร้องขอรับหลักประกันคืน สำหรับการนำตัวจำเลยที่ 1 มายืนยันเกี่ยวกับเงินประกันตามคำสั่งศาล ปรากฏตามคำร้องของผู้ประกันว่าไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เนื่องจากจำเลยที่ 1ได้เดินทางกลับประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณียังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเงินจำนวนนี้เป็นของผู้ขอประกันหรือของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินประกันเป็นของผู้ประกัน พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นคืนเงินหลักประกันจำนวน 60,000 บาทแก่ผู้ประกัน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ประกอบพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (1) (8) คงให้อำนาจและหน้าที่แก่พนักงานอัยการดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาประกันจำเลยก็แต่เฉพาะในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาในทางคดีอาญาอันเกี่ยวกับการให้ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีในศาล จึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายในการมอบอำนาจและหน้าที่ให้แก่พนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันจำเลยเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น แต่เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันของผู้ประกันสิ้นสุดลงแล้ว อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นของผู้ประกันในกรณีนี้เป็นเรื่องการขอรับหลักประกันคืนภายหลังความรับผิดตามสัญญาประกันจำเลยหมดไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 118 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวนั้น ก็มิใช่เงื่อนไขของสัญญาประกันอันจะถือได้ว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 เมื่อไม่ใช่กรณีผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share