คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ชนิดเม็ด จำนวน 9,300 เม็ดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้นเป็นจำนวนเดียวกัน ส่วนเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงจำนวน7 ถุงนั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ชนิดเม็ดผลิตโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัดเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงให้เป็นเม็ดขณะเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมปรากฏว่าเครื่องจักรผลิตยากำลังทำงานอยู่ดังนั้น เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงดังกล่าว จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อผลิตเป็นชนิดเม็ดเพื่อขายนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13, 62, 89, 106, 116ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ลงวันที่ 18 มกราคม2520 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 วรรคหนึ่ง, 89 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ฐานผลิตจำคุกคนละ 15 ปี ฐานมีไว้เพื่อขายจำคุกคนละ 15 ปี รวมจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบางส่วน ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม มีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปีจำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน ริบของกลาง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ให้ลงโทษฐานผลิตตามมาตรา 13วรรคหนึ่ง, 89 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม จำเลยที่ 2หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 10 ปี จำเลยที่ 2 ไว้ 11 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสองกระทง คือ ฐานผลิตกระทงหนึ่ง และฐานมีไว้เพื่อขายอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งการมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา 62 กับการมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 4 วรรคเจ็ด เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายสองบทนั้นเห็นว่าเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ชนิดเม็ด จำนวน 9,300 เม็ดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้น เป็นจำนวนเดียวกัน ส่วนเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผง จำนวน7 ถุง นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ชนิดเม็ดผลิตโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัดเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงให้เป็นเม็ดขณะเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมปรากฏว่าเครื่องจักรผลิตยากำลังทำงานอยู่ดังนั้นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงดังกล่าวจำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อผลิตเป็นชนิดเม็ดเพื่อขายนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท”
พิพากษายืน

Share