แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยต่างเป็นเอกชน จำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งครูผู้สอนและจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้โจทก์ตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 มิใช่สัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
โจทก์เป็นครูตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเพื่อเรียกร้องสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพอถือได้ว่าเป็นการฟ้อง เรียกค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครอง การทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และฟ้องเรียก สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 ซึ่งมิใช่ฟ้องเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงานฯ ส่วนที่ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ก็มิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯโจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยได้
พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 และมีคณะกรรมการประนีประนอมหรือคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อพิจารณาหรือพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้วแต่กรณี เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ก่อน
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งครูผู้สอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,700 บาท โจทก์ที่ 2เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ6,360 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท โจทก์ที่ 4 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 28 มีนาคม2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท โจทก์ที่ 5 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,560 บาทจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โดยโจทก์ทั้งห้าไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายนอกจากนี้จำเลยยังค้างค่าจ้างด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 17,100 บาท19,080 บาท 19,080 บาท 38,180 บาท 39,360 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 5,700 บาท 12,720 บาท 12,720 บาท 12,720 บาท 13,120 บาทค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 30,000 บาท 30,000 บาท30,000 บาท 50,000 บาท 50,000 บาท และค่าจ้าง 5,700 บาท 8,520 บาท9,880 บาท 8,080 บาท 10,348 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน อยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542โดยไม่ได้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหนังสือบอกเลิกจ้างที่โจทก์ทั้งห้าได้รับเกิดจากความผิดพลาดของนางสาวพรพิศณี เกิดควน เจ้าหน้าที่งานบุคลากรของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจทำหนังสือดังกล่าว จำเลยได้ยกเลิกหนังสือเลิกจ้างแล้วและโจทก์ทั้งห้าเป็นครูอยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542การจะเลิกสัญญาว่าจ้างครูได้ต้องผ่านคณะกรรมการประนีประนอมคณะกรรมการคุ้มครอง และได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนจึงถือว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า สำหรับค่าจ้างจำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งครูผู้สอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,700 บาทโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท โจทก์ที่ 4 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 28มีนาคม 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,360 บาท และโจทก์ที่ 5เข้าทำงานเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ6,560 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2542 นางสาวพรพิศณี เกิดควน หัวหน้างานบุคคลของจำเลยได้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และมีคำสั่งพักงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2542 โจทก์ทั้งห้าไปร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ตเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 นายอิศนุวัฒน์ จารุทัศน์ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ได้ชี้แจงต่อศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ตและคณะว่าคำสั่งที่เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกโดยนางสาวพรพิศณีหัวหน้างานบุคคลของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างของจำเลย และได้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า ให้โจทก์ทั้งห้ากลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่โจทก์ทั้งห้าไม่กลับไปทำงานให้จำเลยอีกต่อมาจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งห้าถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นางสาวพรพิศณีลงนามในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นการทำการแทนนายอิศนุวัฒน์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจตามมาตรา 820 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษครูกำหนดขั้นตอนไว้ว่า ผู้มีอำนาจลงโทษครูให้พ้นจากหน้าที่ได้ต้องเป็นผู้จัดการหรือผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้น เห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้านางสาวพรพิศณีเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการและผู้รับใบอนุญาตแล้ว ส่วนขั้นตอนการลงโทษครูที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้รัฐจัดการและควบคุมการบริหารงานของโรงเรียนเอกชนให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพและคุ้มครองดูแลการทำงานของครู แต่มิใช่บทบัญญัติยกเว้นการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องนิติกรรมสัญญา ดังนั้นความผูกพันและความรับผิดตามสัญญาตัวแทนจึงเป็นไปตามหลักทั่วไป แม้นายอิศนุวัฒน์จะได้ทำบันทึกชี้แจงต่อศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2542 ตามเอกสารหมาย ล.6 ว่า ได้แจ้งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้วก็ไม่มีผล แต่เป็นเพียงการแสดงเจตนาเสนอขอจ้างโจทก์ทั้งห้าใหม่ ย่อมขึ้นอยู่กับโจทก์ทั้งห้าว่าจะสนองรับหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งห้าไม่สมัครใจทำงานกับจำเลยใหม่ ย่อมไม่เกิดสัญญาจ้างขึ้นใหม่การบอกยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าของนายอิศนุวัฒน์ไม่มีผล เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้ากระทำผิดใด ๆ อันจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างหรือผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 แล้ว จำเลยย่อมต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งห้าตามอายุงาน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งห้า โดยหักค่าจ้างที่จำเลยจ่ายถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 ออกก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนต้องการพัฒนาโรงเรียนและบุคลากรครูผู้สอนให้มีคุณภาพและถอดถอนครูที่ไม่มีคุณภาพออกจากระบบ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้ากระทำความผิดหรือถูกประเมินว่า ไม่มีคุณภาพอีกทั้งวิธีการแก้ปัญหาของจำเลยยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสุจริต ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าที่ไม่เป็นธรรม เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ตามสัดส่วนของอายุงานโดยกำหนดให้เท่ากับค่าจ้างปีละ 15 วัน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 17,100 บาท 19,080 บาท 19,080 บาท38,180 บาท และ 39,360 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างเป็นเงิน 3,230 บาท 3,604 บาท 3,604 บาท 3,604 บาท และ 3,717 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,700 บาท6,360 บาท 6,360 บาท 9,540 บาท และ 9,540 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อ ก) ว่าสัญญาการเป็นครูเป็นสัญญาทางปกครอง ต้องบังคับตามกฎหมายปกครองและพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานอันเป็นสัญญาเอกชนที่จะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้อันเป็นการเรียกร้องสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ได้กำหนดคำนิยามคำว่าสัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแต่สัญญาการเป็นครูคดีนี้โจทก์ทั้งห้าและจำเลยต่างเป็นเอกชน ได้ตกลงกันโดยจำเลยตกลงรับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานให้จำเลยตำแหน่งครูผู้สอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ และจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งห้าตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 มิใช่สัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 3.1 ข) และ ค) ว่า จำเลยเป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เฉพาะที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครูตามกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ฉบับที่ 1 โจทก์ทั้งห้าเป็นครูตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย เห็นว่า กฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ซึ่งออกตามความในมาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ใน (1) ว่ามิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างตำแหน่งครูผู้สอน โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
แต่อย่างไรก็ดี คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าคดีนี้พอถือได้อยู่ในตัวว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542ข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 มิใช่ฟ้องเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และฟ้องจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานในการใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่ หากเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนซึ่งมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 3.1 ง) และ จ) ว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้โดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 และมีคณะกรรมการประนีประนอมหรือคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อพิจารณาหรือพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด แล้วแต่กรณีเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวก็ตามก็มิใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ก่อน โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่ว่า การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้ามีผลหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างจึงเป็นการแสดงออกโดยคำสั่งทางปกครองของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อโจทก์ทั้งห้าผู้รับคำสั่งทางปกครอง ถือว่ามีผลเป็นการยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยโจทก์ทั้งห้าไม่จำต้องสนองรับดังเช่นการเลิกนิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และถือว่าคำสั่งเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525มาตรา 96 วรรคสอง เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในอุทธรณ์ข้อ 3.1 ก) แล้วว่าสัญญาการเป็นครูระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 มิใช่สัญญาทางปกครองจึงนำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามกฎหมายปกครองมาใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งของจำเลยให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าไม่มีผล ถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้างตามคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว”
พิพากษายืน