แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534มาตรา 26 ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แก่ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 หรือ 85/1 หรือที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85 วรรคสี่ การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้โจทก์จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.03.5เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ก็ตาม แต่อธิบดีกรมสรรพากรก็ได้อนุมัติให้การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 เป็นต้นมา และให้โจทก์มีสิทธิได้รับการพิจารณาเพื่อขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนับแต่วันดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85 วรรคสี่ และมีผลทำให้การยื่นคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.03.5เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 เป็นการยื่นในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์จึงได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 26
ตามมาตรา 26 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 คำวินิจฉัยที่จะถือเป็นที่สุดต้องเป็นคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร แต่ ว. มิได้เป็นอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ว. มีคำวินิจฉัยดังกล่าวแทนตน คำวินิจฉัยของ ว. ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงยังไม่ถือเป็นที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ตามหนังสือแจ้งการประเมิน ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2536 เลขที่ 1016/5/100922 ถึง 40รวม 19 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย ลงวันที่ 24 มีนาคม 2537 เลขที่ 157 ก ถึง157ถ/2537/2 รวม 19 ฉบับ แต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มก็ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือที่ 1016/5/100922ถึง 40 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2536 หนังสือที่ 157ก ถึง 157ถ/2537/2 ลงวันที่ 24 มีนาคม2537
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม2535 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ 2 แต่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนให้เฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.พ.03.5 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่256 ถึง 258 เพื่อขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์ที่โจทก์ได้ทำไว้กับลูกค้าก่อนวันที่ 1มกราคม 2535 และเป็นสัญญาต่อเนื่องระหว่างภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน1,327 สัญญา ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2535 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศขยายระยะเวลาให้ ครั้นวันที่ 11 มิถุนายน 2535 สรรพากรเขตพื้นที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.03.5 เนื่องจากวันที่ 30 มกราคม 2535 ที่โจทก์ยื่นคำขอตามแบบ ภ.พ.03.5นั้น โจทก์ยังมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534ได้กำหนดไว้ โจทก์ไม่เห็นด้วย วันที่ 15 มิถุนายน 2535 จึงทำหนังสือคัดค้านไปยังอธิบดีกรมสรรพากรและสรรพากรเขตพื้นที่ 2 ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535นายวีระชัย ตันติกุล รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 26 ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ยังมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ยื่นคำขอตามแบบ ภ.พ.03.5 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม2536 โจทก์ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อผ่อนผันให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2536 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้นมีหนังสืออนุมัติให้การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมาตามมาตรา 85วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์ได้กระทำไปโดยความสำคัญผิดและมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร โจทก์นำหนังสือนี้ไปให้สรรพากรเขตพื้นที่ 2เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2536 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2536 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจากสรรพากรเขตพื้นที่ 2 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,005,077.82 บาท โจทก์ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบแล้วแต่ให้งดเบี้ยปรับ คงให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มเป็นเงิน 18,287,718.56 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่มีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 26ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ จะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แก่ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 หรือ 85/1 หรือที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85 วรรคสี่ การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่19 มีนาคม 2535 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.03.5 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 256 ถึง 258เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ก็ตาม แต่อธิบดีกรมสรรพากรก็ได้อนุมัติให้การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา และให้โจทก์มีสิทธิได้รับการพิจารณาเพื่อขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรากฏตามหนังสืออนุมัติเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 14 ถึง 18ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62 ถึง 66 จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนับแต่วันดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85 วรรคสี่และมีผลทำให้การยื่นคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.03.5 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 เป็นการยื่นในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มาตรา 26 ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 3 ที่ให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของนายวีระชัย ตันติกุล รองอธิบดีกรมสรรพากร ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 218 ถึง 219 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นที่สุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 มาตรา 26 คำสั่งอนุมัติของอธิบดีกรมสรรพากรตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 14 ถึง 18 ที่ให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จึงไม่มีผลทำให้โจทก์ได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 26วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534คำวินิจฉัยที่จะถือเป็นที่สุดต้องเป็นคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร แต่นายวีระชัยตันติกุล มิได้เป็นอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มีคำสั่งมอบหมายให้นายวีระชัย ตันติกุล มีคำวินิจฉัยดังกล่าวแทนตน แม้นายวีระชัยตันติกุล จะเบิกความว่าตนมีอำนาจทำคำวินิจฉัยดังกล่าวแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ตามคำสั่งกรมสรรพากรเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 34 แต่คำสั่งดังกล่าวก็ระบุแต่เพียงว่าให้นายวีระชัย ตันติกุล ปฏิบัติราชการรองอธิบดีกรมสรรพากรสายกฎหมายเท่านั้น และนายวีระชัย ตันติกุล ก็ยังเบิกความรับว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ตนมีอำนาจวินิจฉัยปัญหากฎหมายภาษีอากรซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรโดยตรง อีกประการหนึ่งคำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2536 และให้มีผลตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปแต่นายวีระชัย ตันติกุล มีคำวินิจฉัยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 218 ถึง 219 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 หากถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งมอบหมายให้นายวีระชัยตันติกุล มีคำวินิจฉัยตามมาตรา 26 แทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ การมีคำวินิจฉัยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 218 ถึง 219 ดังกล่าว ก็เป็นการมีคำวินิจฉัยก่อนที่นายวีระชัยตันติกุล จะได้รับมอบหมายให้มีคำวินิจฉัยแทน คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร ฉะนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยังไม่ถือเป็นที่สุดตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534เมื่อต่อมาหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้นมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 14 ถึง 18 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62 ถึง 66อนุมัติให้การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา และให้โจทก์มีสิทธิได้รับการพิจารณาขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงได้รับสิทธิขอเสียภาษีการค้าและยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 26 ดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน