แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 9 ได้ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการไว้อย่างกว้างขวางในอันที่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า คดีอาญาคดีใดที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว หากผู้ว่าคดีมิได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับก็ดี หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงไปแล้วมิได้มีการขอผัดฟ้องก็ดี อธิบดีกรมอัยการจะเห็นสมควรอนุญาตให้ฟ้องคดีนั้น ๆ หรือไม่ แม้ในการสอบสวนไม่มีการขอผัดฟ้องทั้ง ๆ ที่ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตลอดมานับแต่วันเวลาที่จำเลยถูกจับก็ตามเมื่ออธิบดีกรมอัยการได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
บทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯมุ่งถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นสารสำคัญ ส่วนกำหนดเวลาที่พนักงานสอบสวนหรือผู้ว่าคดีจะต้องปฏิบัติในการยื่นฟ้องหรือขอผัดฟ้องผู้ต้องหา ย่อมเป็นไปตามมาตรา 7 อำนาจของอธิบดีกรมอัยการตามความในมาตรา 9 หาได้ถูกลบล้างแต่ ประการใดไม่ (อ้างฎีกาที่ 661/2503 และ 133/2506)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหลบหนีที่ควบคุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยาน แล้วมีคำพิพากษาว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ โดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 4 คือ พนักงานสอบสวนมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ผู้ว่าคดีฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมง หรือดำเนินการผัดฟ้องตามบทมาตราดังกล่าวเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้ หนังสืออนุญาตของอธิบดีกรมอัยการไม่มีผลทำให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ในเมื่อมิได้มีการปฏิบัติตามมาตรา 7 ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 9 ได้ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการไว้อย่างกว้างขวางในอันที่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าคดีอาญาคดีใดที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้วหากผู้ว่าคดีมิได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับก็ดี หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงไปแล้วมิได้มีการขอผัดฟ้องก็ดี อธิบดีกรมอัยการจะเห็นสมควรอนุญาตให้ฟ้องคดีนั้น ๆ หรือไม่ ดังนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ข้อหาฐานหลบหนีที่ควบคุมซึ่งนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ในการสอบสวนไม่มีการขอผัดฟ้อง ทั้ง ๆ ที่ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตลอดมานับแต่วันเวลาที่จำเลยถูกจับก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าอธิบดีกรมอัยการได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้ ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 133/2506 และที่ 661/2503 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มุ่งถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นสารสำคัญ ส่วนกำหนดเวลาที่พนักงานสอบสวนหรือผู้ว่าคดีจะต้องปฏิบัติในการยื่นฟ้องหรือขอผัดฟ้องผู้ต้องหานั้น คงเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้น อำนาจของอธิบดีกรมอัยการตามความในมาตรา 9 จึงหาได้ถูกลบล้างแต่ประการใดไม่
พิพากษายืน