แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำนาของจำเลย ค่าพันธุ์ข้าวปลูกโจทก์จำเลยออกกันคนละกึ่งส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นโจทก์เป็นผู้ออก ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำนาแบ่งกันคนละครึ่ง โจทก์จะทำนาได้มากน้อยเท่าใดแล้วแต่ความสามารถของโจทก์ จำเลยมิได้กำหนดกฎเกณฑ์หรือสั่งการและควบคุมโจทก์ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะนายจ้างลูกจ้าง
การที่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้นาพิพาทของจำเลยเพื่อทำนาโดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นข้าวอันเป็นผลผลิตจากการทำนา เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 แล้ว แม้การเช่าจะมิได้กำหนดเวลากันไว้ก็ตาม ก็ถือว่าการเช่านารายนี้มีกำหนดเวลา 6 ปีตามมาตรา 5 แห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องให้โจทก์เช่าจนครบ 6 ปี
แม้ว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการเช่านาจะยังไม่ถึงที่สุดเมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่สิ้นสุด และจำเลยขัดขวางมิให้โจทก์เข้าทำนาตามสิทธิ์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จะอ้างว่าตนเข้าครอบครองนาพิพาทระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
เดิมโจทก์เช่านาพิพาทกับจำเลยคนหนึ่ง ต่อมาจำเลยคนนั้นโอนนาพิพาทไปให้จำเลยอีกคนหนึ่ง จำเลยผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยคนก่อนที่มีต่อโจทก์ผู้เช่านา ตามมาตรา 29 แห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยผู้รับโอนจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
แม้จำเลยคนหนึ่งจะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งให้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมร่วมกับจำเลยอีกคนหนึ่งผู้ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้เช่านาโฉนด 701 ตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 19 ไร่เศษ จากจำเลยที่ 1 ก่อน พ.ศ. 2517 จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ ที่จะเช่านาแปลงดังกล่าวต่อไปอีก 6 ปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2517 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 1ได้โอนที่นาแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่สุจริตจำเลยที่ 2 จึงมีความผูกพันที่จะให้โจทก์เช่านาแปลงพิพาทต่อไปตามกฎหมาย แต่ในปีการทำนาพ.ศ. 2519 จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำนา โจทก์ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยา คณะกรรมการพิจารณาแล้ววินิจฉัยให้โจทก์เช่าต่อไปอีก จำเลยทั้งสองทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำนา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการทำนาเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์เช่านาพิพาท เป็นเวลา 6 ปีนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2517 ห้ามรบกวนและให้ชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ทำนาปี พ.ศ. 2519 และปีต่อ ๆ ไปปีละ 10,000 บาท จนกว่าโจทก์จะได้เข้าทำนาพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า โจทก์ไม่ได้เช่านาพิพาทจากจำเลยเป็นแต่เพียงผู้รับจ้างทำนาให้จำเลยที่ 1 บัดนี้นาพิพาทได้โอนไปยังจำเลยที่ 2 โดยสุจริตโจทก์ไม่มีความผูกพันกับจำเลยทั้งสอง ความเสียหายไม่มากดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทจริง มีสิทธิที่จะเช่าต่ออีก 6 ปี ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 46 จำเลยที่ 2 รับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์เช่านาพิพาทเป็นเวลา 6 ปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2517 ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ารบกวนครอบครองนาพิพาทต่อโจทก์ในฐานะผู้เช่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์มิได้ทำนาพิพาทปีละ 3,900 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะยอมให้โจทก์เข้าทำนาพิพาทและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้องและจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมร่วมกับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้เข้าทำนาพิพาทของจำเลยที่ 1 โดยแบ่งผลผลิตข้าวคนละครึ่งมาสิบกว่าปีจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำนาต่อไป
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้เช่านารายพิพาทข้อเท็จจริง จากข้อนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความต้องกันว่า ในการทำนาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ช่วยกันออกค่าพันธุ์ข้าวปลูกคนละครึ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการไถนา หว่านข้าว เก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าว และอื่น ๆ โจทก์เป็นผู้ออก ผลประโยชน์ที่โจทก์แบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 ก็แบ่งตามผลผลิตที่ได้จากการทำนาโดยโจทก์จะทำนาได้มากน้อยเท่าใดแล้วแต่ความสามารถของโจทก์ จำเลยที่ 1 หาได้วางกำหนดกฎเกณฑ์หรือสั่งการและควบคุมให้โจทก์ทำนาให้ได้จำนวนแน่นอนแต่อย่างใดไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างลูกจ้างกันอนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 4 ให้คำนิยาม “การเช่านา” ไว้ว่า “หมายความถึงการเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งนาเพื่อทำนา ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้นาเพื่อทำนาโดยได้รับค่าเช่านาและทำนิติกรรมอื่นใดเพื่อเป็นการอำพรางการเช่าดังกล่าว” ส่วน “ค่าเช่านา” ตามบทกฎหมายดังกล่าวให้คำนิยามไว้ว่า “หมายถึงผลผลิตของข้าวหรือพืชไร่เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดซึ่งเป็นค่าตอบแทนการเช่านา และหมายความรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่ผู้ให้เช่านาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับเพื่อตอบแทนการให้เช่านาทั้งโดยตรงหรือทางอ้อม” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ใช้นาพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อทำนาโดยจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นข้าวอันเป็นผลผลิตจากการทำนา เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทตามความหมายแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้การเช่าจะมิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ก็ตาม มาตรา 5 แห่งกฎหมายดังกล่าวก็ให้ถือว่าการเช่านารายนี้มีกำหนดเวลา 6 ปี ฉะนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องให้โจทก์เช่านาจนครบ 6 ปี
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยายังไม่ถึงที่สุด เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดชัยนาท ซึ่งคณะกรรมการประจำจังหวัดยังมิได้วินิจฉัย การที่จำเลยเข้าทำนาของจำเลยระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ยังไม่เสียหาย ค่าเสียหายตามฟ้องเป็นค่าเสียหายที่โจทก์คาดคะเนเอง จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการเช่านาระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังไม่สิ้นสุด จำเลยเข้าขัดขวางมิให้โจทก์ทำนาตามสิทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ทำนาโจทก์ย่อมได้รับความเสียหายอยู่ในตัวแล้ว ส่วนค่าเสียหายนั้นศาลย่อมกำหนดให้ตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นาพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 29 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติถึงความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีว่าให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความ คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ศาลชั้นต้นก็พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเข้ารบกวนการครอบครองนาพิพาทโดยปกติสุขของโจทก์ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน