แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไม่เคยยกให้เป็นทางสาธารณะ ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานผู้ชี้แนวเขตและรับรองเขตที่ดินได้ทำการคัดค้านการนำชี้แนวเขต อ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ซึ่งชาวบ้านใช้สัญจรร่วมกันอันเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และจำเลยที่ ๒ ได้ใช้จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้บุคคลภายนอกนำรถไถต้นไม้และพื้นดินในที่ดินพิพาท เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลที่ขอให้เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ทางสาธารณประโยชน์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๗
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแขวงนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นายขวน ขุนจิตร์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายทินกร มุสิกวัตร ในฐานะนายอำเภอสิชล ที่ ๑ นายเฉลิม เพชรรัตน์ ในฐานะปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ ๒ นายปราโมทย์ ชูรัตน์ ในฐานะผู้ปกครองท้องที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๘ ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๙๒/๒๕๕๕ และศาลแขวงนครศรีธรรมราชรับโอนมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๓/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๑๘๓ ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาและไม่เคยยกให้เป็นทางสาธารณะ เมื่อปี ๒๕๕๔ โจทก์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาสิชล เพื่อทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ดินที่พิพาท เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีหนังสือแจ้งวันนัดรังวัดที่ดินพร้อมเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้ไประวังแนวเขต จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มอบให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ชี้แนวเขตและรับรองเขตที่ดินซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงของโจทก์ ในวันนัดรังวัดเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจและชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ โดยไม่ได้ชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่นหรือรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด จำเลยที่ ๓ ได้คัดค้านการนำชี้แนวเขตโดยอ้างว่าโจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินด้านทิศตะวันตกทับแนวเขตทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรติดต่อกันมาประมาณ ๓๐ ปี เนื้อที่ประมาณ ๕๗ ตารางวา ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาสิชล มีหนังสือถึงโจทก์และจำเลยทั้งสามให้ทำการสอบสวนไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้จึงไม่อาจดำเนินการแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๒ ได้ใช้ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้บุคคลภายนอกนำรถไถเข้าทำการไถต้นไม้และพื้นดินที่พิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามและห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการใดอันเป็นการรบกวน ขัดขวางหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำทับแนวเขตทางสาธารณประโยชน์ซึ่งมีต้นยางนาใหญ่อายุ ๓๐ ปี ซึ่งโจทก์อ้างกรรมสิทธิ์จำนวน ๑ ต้น จำเลยที่ ๓ จึงคัดค้านโต้แย้งการรังวัดที่พิพาทดังกล่าว โดยมีพยานที่น่าเชื่อถือยืนยันว่าที่พิพาทมีสภาพเป็นทางที่ประชาชนใช้สัญจรมาโดยตลอด และเคยของบประมาณทางราชการมาพัฒนาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประกอบกับกรมแผนที่ทหารได้ถ่ายภาพทางอากาศไว้มีสภาพลวดลายเป็นทางสาธารณประโยชน์และต้นยางนาก็อยู่ในเขตสาธารณประโยชน์อย่างชัดเจน จำเลยที่ ๒ มิได้ใช้จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้บุคคลภายนอกนำรถไถเข้าทำการไถต้นไม้และพื้นดินในที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๑๘๓ ของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดกรณีพิพาทในคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษา คุ้มครองและป้องกันสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ ทำหน้าที่ระวังแนวเขตที่ดิน การที่จำเลยที่ ๓ คัดค้านการรังวัดรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ของโจทก์เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้ดูแลรักษา คุ้มครองและป้องกันสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิใช่ในฐานะเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ประกอบกับคดีนี้เป็นการโต้แย้งความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ มิใช่พิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องจากการดำเนินการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยไม่มีการกระทำของเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้นเป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ทำการเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ๑๗๑๘๓ โดยอ้างว่าไม่ได้ชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์ แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันทางสาธารณะหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องโดยมุ่งหมายเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครศรีธรรมราช
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันไม่เคยยกให้เป็นทางสาธารณะ ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาสิชล เพื่อทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๑๘๓ ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยจำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอมอบให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ชี้แนวเขตและรับรองเขตที่ดินได้ทำการคัดค้านการนำชี้แนวเขตโดยอ้างว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ซึ่งชาวบ้านใช้สัญจรร่วมกันอันเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่พิพาท ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินได้นำชี้รังวัดรุกล้ำทับแนวเขตทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและต้นยางนาจำนวน ๑ ต้น จึงชอบที่จะทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ มิได้ใช้จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้บุคคลภายนอกนำรถไถต้นไม้และพื้นดินในโฉนดที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลที่ขอให้เพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ทางสาธารณประโยชน์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายขวน ขุนจิตร์ โจทก์ นายทินกร มุสิกวัตร ที่ ๑ นายเฉลิม เพชรรัตน์ ที่ ๒ นายปราโมทย์ ชูรัตน์ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ