คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสียเองนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้เสียหาย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2521)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 6 คน จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ

(ก) จำเลยได้บังอาจทำบัญชีงบดุลของห้างหุ้นส่วนอันเป็นเท็จว่า ห้างหุ้นส่วนได้จ่ายเงินให้แก่นายประกิต รัตนวิชัย ไปจำนวน 1,228,510 บาท 90 สตางค์ เพื่อนำไปลงทุนทำไม้ส่งให้ห้างหุ้นส่วนตามสัญญาระหว่างนายประกิตกับห้างหุ้นส่วน ความจริงนายประกิตไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากห้างหุ้นส่วน จำเลยทำบัญชีงบดุลอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ หลงเชื่อว่าหุ้นส่วนได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายประกิตไปจริง และโดยอาศัยบัญชีงบดุลเท็จดังกล่าวจำเลยได้บังอาจเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวน 1,228,510 บาท 90 สตางค์ ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจากบัญชีของห้างหุ้นส่วนไปเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการลงข้อความเท็จในบัญชีงบดุลอันเป็นเอกสารของห้างหุ้นส่วนเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ต้องสูญเสียเงินของห้างหุ้นส่วน และของผู้เป็นหุ้นส่วนไปจำนวน 1,228,510 บาท 90 สตางค์

(ข) จำเลยได้บังอาจกระทำการให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ กล่าวคือ ห้างหุ้นส่วนได้จ่ายเงินจำนวน 564,606 บาท 70 สตางค์ให้แก่นายประกิต รัตนวิชัย เพื่อนำไปลงทุนทำไม้ที่นายประกิตได้รับอนุญาตจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สาขาจังหวัดขอนแก่น และที่นายประกิตได้รับอนุญาตให้ทำตามใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งไม้ที่นายประกิตทำไปแล้วโดยเงินทุนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ไม้มาจำนวน5406.24 ลูกบาศก์เมตร ไม้จำนวนดังกล่าวนี้นายประกิตมีความผูกพันที่จะต้องส่งให้แก่ห้างหุ้นส่วน แล้วห้างหุ้นส่วนจะขายได้กำไรทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,243,248บาท แต่ห้างหุ้นส่วนหาได้รับไม้จำนวนดังกล่าวจากนายประกิตไม่ จำเลยได้บังอาจบีบบังคับและใช้อุบายลวงให้นายประกิตโอนไม้จำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไชยกิจขนส่งซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนที่จำเลยมีหุ้นและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีกต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจ โดยจำเลยมิได้แจ้งให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ทราบการกระทำของจำเลยทำให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ไปคิดเป็นเงิน 1,807,854 บาท 70 สตางค์

ต่อมาผู้เป็นหุ้นส่วนอีก 5 คนมีนางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง นายคิม แซ่โอว นายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ ได้ทราบถึงการที่จำเลยยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วน จึงได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไป 1,228,510 บาท 90 สตางค์ แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้เสียหายและแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบพนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353 ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯนั้น พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ ถือว่าไม่มีการสอบสวนความผิดฐานนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ได้มีการร้องทุกข์โดยชอบและได้มีการแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นอีก 5 คนคือ นางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง นายคิม แซ่โอว นายซือตงแซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ วันที่ 16 และวันที่ 23 สิงหาคม 2512 ผู้เป็นหุ้นส่วนรวม 5 คนได้มีการประชุมกันโดยมีนายซือตง แซ่เซียวและนายเกียยาม แซ่แต้เข้าประชุมด้วยตนเอง ส่วนนางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึงและนายคิม แซ่โอว ให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ นายเสรี บูรณะวัฒนากุล และนายจึงหงี่ แซ่โอ้ว เข้าประชุมแทนตามลำดับโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจ แล้วผู้ที่เข้าประชุมดังกล่าวแล้วได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตลอดจนการดำเนินคดีทางศาลกล่าวหาว่าจำเลยฉ้อโกงผู้เป็นหุ้นส่วนหรือยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน ต่อมานายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการปราบปราม แจ้งความต่อร้อยตำรวจสมเกียรติ พ่วงทรัพย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น และทำบันทึกมอบคดีความผิดต่อส่วนตัวให้พนักงานสอบสวน ร้อยตำรวจเอสมเกียรติ พ่วงทรัพย์จึงได้สอบสวนความผิดฐานนั้น และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดฐานยักยอกนั้น แม้จะปรากฏว่านางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึงและนายคิม แซ่โอวผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้เข้าประชุมด้วยตนเอง โดยมอบให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ นายเสรี บูรณะวัฒนากุล และนายจึงหงี่ แซ่โอ้ว เข้าประชุมแทนโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจแล้วผู้เข้าประชุมแทนเป็นผู้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์อันถือไม่ได้ว่านางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง และนายคิม แซ่โอ้วผู้เป็นหุ้นส่วนได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์ก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีผู้เป็นหุ้นส่วนอีก 2 คนได้เข้าประชุมด้วยตนเองคือนายซือตง แซ่เซียวและนายเกียยาม แซ่แต้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองคนนี้ได้มอบอำนาจให้นายเชาว์วิจิตรกาญจน์ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.7 มีปัญหาว่านายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าในกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสียเองนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้นเมื่อนายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้เสียหายดังกล่าวได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้วเช่นนี้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องในความผิดดังกล่าวได้

ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯพ.ศ. 2499 มาตรา 42 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่ายังถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

พิพากษาแก้ เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share