คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีส่วนอาญาศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวเป็นผู้ประมาท ดังนั้นในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จะนำข้อเท็จจริงดังว่านี้มาใช้ยันจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีอาญานั้นด้วย
การกำหนดให้คู่ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม เป็นดุลพินิจของศาลจะคำนวณจากทุนทรัพย์ตามฟ้อง หรือตามที่โจทก์ชนะคดีก็ได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยต่อสู้คดีในลักษณะประวิงคดีและไม่สุจริต ศาลจะไม่ให้จำเลยรับผิดในค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแต่ให้รับผิดตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องก็ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์คือค่าปลงศพ 25,000 บาท ค่าโจทก์ขาดไร้อุปการะ 161,500 บาท ค่าซ่อมรถ 3,000 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงิน 164,500 บาท แก่โจทก์เป็นการผิดพลาดไปโดยมิได้เอายอดเงินค่าปลงศพ 25,000 บาท มารวมคำนวณด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และจำเลยคงฎีกาฝ่ายเดียวต่อมาดังนี้ ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 พิพากษาแก้ให้จำเลยชดใช้เงิน 189,000 บาท แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยประมาทชนกับรถที่บิดาของโจทก์ขับ เป็นเหตุให้บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย และรถของบิดาโจทก์เสียหาย ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ ค่าซ่อมรถ ค่าทำศพ และค่าขาดไร้อุปการะ

จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุรถชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของบิดาโจทก์ และค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องมาสูงเกินไป

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียก บริษัทสินสวัสดิ์ประกันภัย เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพราะเป็นผู้รับประกันภัยรถของจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถขณะเกิดเหตุแต่มีบุคคลอื่นขับโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เป็นการผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์คือ ค่าปลงศพ 25,000 บาท ค่าโจทก์ขาดไร้อุปการะ 161,500 บาทค่าซ่อมรถ 3,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 164,500บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 8,000 บาทแทนโจทก์ให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท

จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักแห่งการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งคดีส่วนอาญาศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า นายเกล้าจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวเป็นผู้ประมาทและถูกลงโทษทางอาญา ศาลฎีกาจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จะนำข้อเท็จจริงดั่งว่านี้มาใช้ยันจำเลยที่ 2 ที่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1ด้วยหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีอาญานั้นด้วยอย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงก็น่าเชื่อว่ารถจำเลยที่ 1 เลี้ยวตัดหน้ารถผู้ตายในระยะกระชั้นชิดผู้ตายไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทันจึงเกิดชนกันขึ้น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่าผู้ตายขับรถเร็วถึง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น เห็นว่า รถของผู้ตายเป็นรถยนต์จี๊ป ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าไม่ใช่รถที่มีความเร็วสูงทั้งขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลาประมาณ 7.00 นาฬิกา มีรถรับส่งนักเรียนกันมาก ไม่น่าเชื่อว่าผู้ตายจะขับเร็วถึงเพียงนั้น รูปคดีฟังได้ชัดว่าเหตุละเมิดเกิดจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างในทางการที่จ้างจึงต้องร่วมรับผิดด้วย สำหรับค่าเสียหายจำเลยฎีกาว่าตามแบบ ภ.ง.ด. 9 แสดงว่า ผู้ตายมีรายได้ปีหนึ่งเพียง 19,200 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงสูงเกินไป ไม่เป็นการถูกต้องนั้น ศาลฎีกาก็เห็นว่าในการพิเคราะห์เรื่องรายได้ของผู้ตายที่แท้จริงจะถือเอาตามที่ผู้ตายแสดงไว้ในแบบยื่นแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 9แต่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะได้ความว่านอกจากเงินเดือนแล้วผู้ตายยังมีรายได้พิเศษจากการเป็นหุ้นส่วนโรงกลึงกับญาติของผู้ตายอีกเดือนละ 2,000-3,000บาท กับมีฝีมือในทางการช่างได้ประดิษฐ์เครื่องสีข้าวจำหน่ายเป็นรายได้ด้วยที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้ชอบแล้ว สำหรับค่าปลงศพผู้ตายก็เช่นเดียวกัน จำเลยฎีกาว่าไม่ควรมีจำนวนถึง 25,000 บาท ควรมีจำนวนเพียง 20,000 บาท ศาลฎีกาก็เห็นว่าจำนวนแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เมื่อพิเคราะห์ถึงฐานะและรายได้ของผู้ตายแล้วศาลฎีกาเห็นว่าค่าปลงศพผู้ตายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นสมควรแล้ว สำหรับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ จำเลยฎีกาว่าจำเลยควรชดใช้เพียงเท่าที่โจทก์ชนะเท่านั้น ข้อนี้ศาลฎีกาก็เห็นว่า การกำหนดให้คู่ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นดุลพินิจของศาลจะคำนวณจากทุนทรัพย์ตามฟ้อง หรือตามที่โจทก์ชนะคดีก็ได้ สำหรับคดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยต่อสู้คดีในลักษณะประวิงคดีและไม่สุจริตจึงไม่ให้จำเลยรับผิดในค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีซึ่งเป็นเหตุผลที่ถูกต้องและศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามมานั้นได้รวมจำนวนเงินตามรายการที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้แก่โจทก์ผิดพลาดไป กล่าวคือ ไม่ได้เอายอดเงินค่าปลงศพ 25,000 บาท มารวมคำนวณด้วย อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 189,500 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share