คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอคืนทรัพย์ของกลางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ซึ่งเจ้าของทรัพย์ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น คำว่า”วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาฐานความผิดเดียวกันและมีคำขอให้ริบของกลางมาด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 9 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท ริบของกลางทั้งหมดคดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นแม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงทรัพย์สินอันเป็นของกลางในคดีก่อนมาด้วยอีก ก็เพื่อให้ฟ้องสมบูรณ์เท่านั้นหาได้นำมาอยู่ในอำนาจศาลในคดีหลังแต่ประการใดไม่ ของกลางดังกล่าวจึงมิใช่ของกลางในคดีหลัง เมื่อผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลางภายหลังวันที่คำพิพากษาคดีแรกถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ฯลฯ จำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ4,000 บาท ริบไม้สักของกลาง รถยนต์บรรทุก และรำข้าวปนแกลบจำนวน 35กระสอบ คดีถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง ให้จำเลยที่ 3เช่าซื้อไป ยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบ ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยด้วย ขอให้คืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง

โจทก์คัดค้านว่ารถยนต์ไม่ใช่เป็นของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนเกิน 1 ปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้และขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินซึ่งรวมถึงรถยนต์ของกลางด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงสั่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ และในวันเดียวกันนั้นเองศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามฟ้องลงโทษจำคุกและปรับ กับให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางนี้ด้วย คดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2517 โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่เรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 3อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519

คดีมีปัญหาว่า คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 หมายถึงคำพิพากษาคดีเดิมของศาลชั้นต้น หรือหมายถึงคดีของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคดีที่ศาลสั่งให้โจทก์ไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ต่างหากอีกคดีหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ว่าการขอคืนทรัพย์ของกลาง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของทรัพย์ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ ตามข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 340/2517 กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 568/2517ของศาลชั้นต้นเป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีกันคนละคราว รายการทรัพย์สินที่จับได้เป็นรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีก่อนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 340/2517 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์บรรทุกของกลางมาด้วยอีกก็เพื่อให้ฟ้องบริบูรณ์เท่านั้น หาได้นำมาอยู่ในอำนาจศาลในคดีหลังแต่ประการใดไม่ ทั้งโจทก์ก็มิได้มีคำขออย่างหนึ่งอย่างใดมาด้วยยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังได้กล่าวในตอนท้ายฟ้องไว้ด้วยว่าของกลางศาลมีคำสั่งให้ริบแล้ว ทรัพย์สินรวมทั้งรถยนต์บรรทุกของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีหลัง คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 568/2517 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย ฉะนั้น ที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางในวันที่ 21 มิถุนายน 2519 จึงเป็นการยื่นภายหลังวันที่ 23 กรกฎาคม 2517 ซึ่งเป็นวันที่คำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

พิพากษายืน

Share