คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้อาคารของโจทก์ที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่โจทก์เช่าจากจำเลยจะถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาเช่าที่ดินระงับสิ้นไป
โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินที่โจทก์เช่าไปให้จำเลยที่ 3 เช่าอีก ทับที่เช่าโจทก์ดังนี้ แสดงว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าของโจทก์แล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิเช่าที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องทำการปลูกสร้างอาคารใด ๆ ลงไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่ พ.ศ. 2504 ตลอดมาจนถึงฉบับสุดท้ายพ.ศ. 2519 โดยทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้จดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินกำหนดเวลาเช่าครั้งละ 3 ปีบ้าง 1 ปีบ้าง ติดต่อกันมา ขณะโจทก์ทำสัญญามีอาคารของนายชื่นปลูกอยู่และโอนขายให้โจทก์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2520 เกิดเพลิงไหม้อาคารในที่พิพาท ไหม้ตัวอาคารหมด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนการเช่าที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 หลังไฟไหม้อาคาร จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ประกาศว่าที่ดินที่ถูกไฟไหม้ทั้งหมดห้ามบุคคลเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แต่อย่างใด มีแต่ประกาศให้ทราบทั่วไปว่าไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องในที่ถูกไฟไหม้เท่านั้น ดังนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เช่าที่ดินหรือเช่าอาคาร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.7 ซึ่งโจทก์จำเลยส่งอ้างมีข้อความตรงกันเป็นการเช่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 652มิใช่เป็นการเช่าอาคาร และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ตามที่จำเลยรับว่าขณะโจทก์ทำสัญญาเช่า มีอาคารของนายชื่นปลูกอยู่และโอนขายให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยไม่มีอาคารที่จะให้โจทก์เช่าเลย สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 ก็เป็นการเช่าที่ดินทั้งสิ้น คดีฟังได้ว่าโจทก์เช่าที่ดินจากจำเลย มิใช่เช่าอาคาร

ส่วนปัญหาเรื่องจำเลยบอกเลิกการเช่ากับโจทก์หรือไม่ เมื่อฟังว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยและอาคารในที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยซื้อมาจากนายชื่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้อาคารของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาเช่าระงับ ตามข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจยกเลิกสัญญาเช่าด้วย คดีฟังได้ว่าจำเลยมิได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์

สำหรับเรื่องอำนาจฟ้อง เห็นว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินที่โจทก์เช่าไปให้จำเลยที่ 3 เช่าอีก ทับที่เช่าของโจทก์ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง”

พิพากษายืน

Share