คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ และมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณา ได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลย ให้การปฏิเสธและนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ตัดเอาอ้อยจำนวน25 ไร่ ราคา 150,000 บาท ของนางวราภรณ์ อภิชนางกูร ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางวราภรณ์ อภิชนางกูร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 50,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาลักทรัพย์ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อ 2(ก) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ครอบครองทรัพย์โดยโจทก์ร่วมยอมให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองตลอดมา ความผิดฐานลักทรัพย์จึงเกิดขึ้นไม่ได้ และแตกต่างกับความผิดฐานยักยอกในข้อสาระสำคัญและจำเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงในคำฟ้องและทางพิจารณาจึงแตกต่างกันและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจรและทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้” ดังนี้ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกก็ตาม แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และการกระทำผิดฐานยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ดังกล่าวมาข้างต้น บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษและคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ และนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชอบที่ศาลล่างทั้งสองจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา คือ ความผิดฐานยักยอกได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อ 2(ง) ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์ แต่ในทางพิจารณากลับได้ความว่า โจทก์ร่วมร้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นส่วนจากการทำไร่อ้อย จึงแตกต่างจากคำฟ้องและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเพราะจำเลยหลงต่อสู้นั้น เห็นว่า แม้ในทางพิจารณาจะได้ความตามที่จำเลยอ้างในฎีกาดังกล่าว แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ดังกล่าวมาข้างต้นบัญญัติบังคับไว้ว่าข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษประกอบกับได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า คดีนี้จำเลยมิได้หลงต่อสู้จึงไม่เป็นเหตุที่ให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share