แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อันเป็นการใช้อำนาจของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 (1) และเมื่อเพิกถอนการโอนได้แล้วที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อ. มิได้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่โต้แย้งว่าโจทก์เลือกปฏิบัติโดยไม่ฟ้องดำเนินคดีแก่บุตรของโจทก์และบุคคลอื่นที่ได้รับโอนที่ดินจากบริษัท อ. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากจำเลยทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท อ. เห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการถอดถอนโจทก์ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ต่อไป การที่โจทก์ไม่ฟ้องบุคคลอื่นดังกล่าว จึงมิใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัท อ. ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและประกาศแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องถือว่าบริษัท อ. เลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (5) ทั้งมีผลให้โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะกรรมการของบริษัทเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. การที่ผู้ชำระบัญชีโอนที่ดินพิพาทของบริษัท อ. ให้แก่จำเลยทั้งหกตามข้อตกลงแบ่งมรดกระหว่างทายาทภายหลังจากบริษัท อ. เป็นบริษัทร้างแล้วและไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดิน จึงไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และไม่มีผลผูกพันบริษัท อ. เป็นการโอนโดยมิชอบ จำเลยทั้งหกต้องโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัท อ.
ขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกไม่ทราบเรื่องที่บริษัท อ. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง จำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชี
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยแต่ละสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 6 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยแต่ละคนเข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด คืนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัดหากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก และให้จำเลยทั้งหกชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นใดที่เจ้าพนักงานเรียกเก็บในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งหกชดใช้เงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกส่งมอบโฉนดที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหกในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งหกชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นที่เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกรณีที่จำเลยทั้งหกไม่อาจโอนที่ดินดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งหกชดใช้เงินแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหกสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 150,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละสำนวนชนะคดี
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามฟ้องโจทก์ และจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหากไม่อาจโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ กับให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคนละกึ่งหนึ่งตามส่วนแบ่งที่ดินซึ่งจำเลยแต่ละคนได้รับโอนไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 50,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นบุตรของนายบรรจงกับนางจรุง อัศวาณิชย์ บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2509 มีนายบรรจง นางจรุง โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 และบุคคลในครอบครัวอัศวาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น โดยมีนายบรรจง นางจรุง และโจทก์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน นายบรรจงและนางจรุงถึงแก่ความตายเมื่อปี 2511 และปี 2515 ตามลำดับ กรรมการของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด จึงเปลี่ยนเป็นโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 โดยกรรมการ 2 ใน 3 คน ดังกล่าวมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง และออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 แล้วต่อมาวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 23 ธันวาคม 2529 บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ให้แก่จำเลยทั้งหก ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งหกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด อันเป็นการใช้อำนาจของผู้ชำระบัญชีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1259 (1) ให้อำนาจไว้ และเมื่อเพิกถอนการโอนได้แล้วที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด มิได้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่โต้แย้งว่าโจทก์เลือกปฏิบัติโดยมีบุตรของโจทก์และบุคคลอื่นได้รับโอนที่ดินจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ในลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยทั้งหก แต่โจทก์ไม่ฟ้องดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากจำเลยทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกจะดำเนินการถอดถอนโจทก์ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ต่อไป การที่โจทก์ไม่ฟ้องบุคคลอื่นดังกล่าวจึงมิใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดโอนที่ดินพิพาทคืนแก่บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ตามกฎหมายอยู่แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งหกต่อไปว่า นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด กับจำเลยทั้งหก มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง และประกาศแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 แล้ว ต้องถือว่าบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา1246 (5) ทั้งมีผลให้โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ในฐานะกรรมการของบริษัท เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด และมีอำนาจอยู่เช่นเดิมตามความแห่งบทบัญญัติมาตรา 1251 ประกอบด้วยมาตรา 1252 ทั้งนี้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามมาตรา 1250 คือ ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท เมื่อจำเลยทั้งหกได้รับโอนที่ดินพิพาท เนื่องจากการประชุมระหว่างทายาทที่มีขึ้นภายหลังจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดฆ่าชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทร้าง โดยตกลงให้แบ่งทรัพย์มรดกของบิดามารดาโจทก์และจำเลยทั้งหกออกเป็น 9 ส่วน แล้วให้ทายาททุกคนจับฉลาก ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529 ได้ประชุมทายาทแล้วมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ให้แก่ทายาทผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่จับฉลากได้ โดยการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดิน แสดงว่าการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งหกเป็นการโอนตามข้อตกลงแบ่งมรดกระหว่างทายาทที่มีภายหลังจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทร้างแล้ว จึงไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 แต่บริษัทร้างจะต้องดำเนินการเพื่อเลิกบริษัทโดยการชำระบัญชี และกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้จดทะเบียนเพื่อให้นิติบุคคลสิ้นสภาพไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในมาตรา 1254 และ 1270 เมื่อจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทหลังจากบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด กลายเป็นบริษัทร้างแล้วซึ่งขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการชำระบัญชี จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด เป็นการโอนโดยมิชอบ จำเลยทั้งหกต้องโอนที่ดินพิพาทคืนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ส่วนค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด นั้น ปรากฏว่าขณะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกไม่ทราบเรื่องที่บริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหาครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง นอกจากนี้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งหก โจทก์เป็นผู้ลงนามแทนบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้ขายด้วย ภายหลังจากจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งหกไปแล้ว จึงทราบว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดชื่อบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง แสดงว่าจำเลยทั้งหกรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยทั้งหกจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทอัศวาณิชย์ จำกัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งหกชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวกึ่งหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีอื่นซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.