แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่า คำร้องคัดค้านใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรในทำนองดูหมิ่นศาลว่าไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและเป็นถ้อยคำฟุ่มเฟือย จึงให้คืนกลับไปทำมาใหม่ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นไม่รับคำคัดค้าน เมื่อจำเลยมิได้ทำคำร้องโต้แย้งเข้ามาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งที่ให้งดสืบพยาน คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ย่อมไม่อาจอุทธรณ์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2533จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ7,730 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม2542 จำเลยมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2542 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายและโจทก์ไม่ได้กระทำผิด โจทก์ทำงานติดต่อกันมาครบ 9 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน เป็นเงิน 61,840 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34 วัน เป็นเงิน 8,760 บาท ระหว่างทำงานจำเลยหักเงินของโจทก์เดือนละ 100 บาท และจำเลยจ่ายเงินของจำเลยจำนวนเท่ากันสมทบให้นับแต่เดือนสิงหาคม 2540 และจะจ่ายให้โจทก์เมื่อสิ้นสุดการทำงาน นับถึงเดือนเมษายน 2542 จำเลยหักเงินโจทก์จำนวน 2,200 บาท และจำเลยสมทบให้ 2,200 บาท รวมเป็นเงิน4,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,160 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน61,840 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ขาดงานบ่อย ๆ และเขียนใบลาย้อนหลัง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2541 โจทก์หยุดงานโดยไม่แจ้งเหตุการลา จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือ โจทก์ยอมรับและลงชื่อรับทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 โจทก์ไม่มาปฏิบัติงานโดยไม่ได้แจ้งเหตุการลาป่วยวันที่ 28 เมษายน 2542 โจทก์มาเขียนใบลาขอลาป่วยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 26พฤษภาคม 2542 รวม 30 วัน เป็นการทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งกำหนดว่าพนักงานที่ลาป่วยจะต้องแจ้งให้จำเลยทราบในวันเริ่มต้นหยุดงานโดยโทรศัพท์หรือฝากให้เพื่อนร่วมงานแจ้ง เป็นการทำผิดซ้ำคำเตือน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 โจทก์ลาป่วยรวม 49 วัน ผิดระเบียบการลาที่ให้สิทธิพนักงานลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติได้ปีละไม่เกิน 30 วัน นอกจากนั้นโจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพโดยเมื่อกลางปี 2541 โจทก์ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้แพทย์มีความเห็นว่าโจทก์ควรทำงานในสถานที่ไม่ต้องสัมผัสกับสีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองและอาการแพ้ จำเลยจึงย้ายโจทก์ไปทำงานที่แผนกสโตร์ ต่อมาวันที่ 19 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ลาป่วยเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง เมื่อโจทก์กลับมาทำงานโจทก์มีปัญหากับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานบ่อย ๆ จำเลยจึงให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในแผนกหลอมทองเหลือง โจทก์ทำงานในวันที่ 26 เมษายน 2542 ได้เพียงวันเดียวก็ขาดงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ต่อมาวันที่ 28 เมษายน2542 โจทก์มาเขียนใบลาป่วยดังกล่าวข้างต้นโดยอ้างว่าปอดอักเสบ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีระเบียบจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างลาออกแต่โจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินสมทบจากจำเลย โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินสะสมของโจทก์จำนวน 2,200 บาท คืนเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 75,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,160 บาท นับแต่วันฟ้องอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 61,840 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 5.1 ว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226บัญญัติว่า “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228
(1) …..
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้” จำเลยจึงต้องโต้แย้งคำสั่งได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 54คดีนี้ภายหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยแล้ว จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่า คำร้องคัดค้านของจำเลยใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรในทำนองดูหมิ่นศาลว่าไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและเป็นถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือยจึงให้คืนกลับไปทำมาใหม่ภายใน 7 วันมิฉะนั้นไม่รับคำคัดค้าน ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วจำเลยมิได้ทำคำร้องโต้แย้งเข้ามาใหม่ตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางจึงต้องถือว่าจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ย่อมไม่อาจอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติที่กล่าวแล้วข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 5.2 มีว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า การที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานในวันที่ 27 เมษายน 2542ก็เพราะโจทก์ป่วยต้องไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถีซึ่งแพทย์หญิงอรพรรณ์เมธาดิลกกุล แพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์ได้ออกใบรับรองแพทย์ว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นในควันจากการทำงาน ให้ป้องกันตนเองจากฝุ่น ควัน และฝุ่นในควัน และให้เว้นจากบริเวณที่มีการยิงทรายเพราะอันตรายต่อปอด ให้พักรักษาตัว 4 สัปดาห์ นับจากวันนี้ โจทก์จึงไม่อาจแจ้งให้จำเลยทราบได้ในกำหนดเวลา 2 ชั่วโมงแรกในวันที่ไม่ไปทำงาน และเมื่อโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจแล้ว วันรุ่งขึ้นโจทก์ก็ได้มาที่บริษัท จำเลยและเขียนใบลาป่วยด้วยตนเองทันที ถือได้ว่าได้แจ้งการหยุดโดยเร็วที่สุดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า วันที่ 27เมษายน 2542 โจทก์ได้ขาดงานโดยไม่แจ้งสาเหตุการลาให้จำเลยทราบโดยปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ว่าโจทก์สามารถแจ้งเหตุการลาให้จำเลยทราบได้หลายวิธีโดยจะแจ้งเหตุการลาทางโทรศัพท์หรือฝากเพื่อนร่วมงานมาลาแทนก็ได้ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 5.3 ซึ่งเป็นอุทธรณ์ต่อเนื่องจากอุทธรณ์ข้อ 5.2 ที่ว่าโจทก์ไม่แจ้งการลาให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะการลงโทษทางวินัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 5.4 มีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินหักสะสมและเงินสมทบจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์จึงมิได้ถูกเลิกจ้างเพราะการลงโทษทางวินัยดังที่จำเลยอุทธรณ์ ดังนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่โจทก์ตามฟ้อง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน