แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับเงินจำนวน 40,000 บาท ไปจากโจทก์และได้ทำบันทึกไว้ให้แก่โจทก์ ระบุไว้ทำนองว่าเงิน 40,000 บาท ที่จำเลยเอาไป ถ้า ป. (หมายถึงพี่สาวจำเลย) ไม่สามารถส่งให้ทันสิ้นเดือนธันวาคม 2537จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ ลงชื่อจำเลยผู้ยืมและโจทก์ผู้ให้ยืมสำหรับคำว่า จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ หมายถึงว่า จำเลยรับรองจะคืนเงินให้นั่นเอง หากพิจารณาข้อความในเอกสารดังกล่าวทั้งหมดรวมกันแล้วก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และปรากฏข้อความว่าจำเลยได้รับเงิน 40,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วหากภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ถ้าพี่สาวจำเลยไม่ใช้ให้จำเลยรับรองและรับผิดชอบจะคืนให้ กรณีจึงมีความหมายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งแล้ว
หลักฐานการกู้ยืมเงินกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในวันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งก็คือวันที่ 31 ธันวาคม 2537 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 40,000 บาท โดยตกลงว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ครั้นครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำเลยไม่ชำระซึ่งเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,064.63 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 43,064.63 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 43,064.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์และไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาใด ๆ ไว้ต่อโจทก์ บันทึกตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเอกสารที่โจทก์ได้สมคบกับบุคคลอื่นทำปลอมขึ้น ลายมือชื่อผู้กู้ยืมไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความหรือจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ฉะนั้นในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน 40,000 บาทไปจากโจทก์และได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ไว้ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า บันทึกตามเอกสารหมายจ.1 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1ระบุไว้ทำนองว่า เงิน 40,000 บาท ที่จำเลยเอาไป ถ้าครูปราณี (หมายถึงพี่สาวจำเลย) ไม่สามารถส่งให้ทันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ลงชื่อจำเลยผู้ยืมและโจทก์ผู้ให้ยืม สำหรับคำว่าจำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้นั้นน่าจะหมายถึงว่าจำเลยรับรองจะคืนเงินให้นั่นเอง ดังนั้นหากพิจารณาข้อความในเอกสารดังกล่าวทั้งหมดรวมกันแล้วก็จะได้ความในลักษณะที่ว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ดังความในตอนท้ายที่ลงชื่อว่าผู้ยืมและผู้ให้กู้ยืม และปรากฏข้อความว่า จำเลยได้รับเงิน 40,000 บาทไปจากโจทก์แล้วหากภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ถ้าพี่สาวจำเลยไม่ใช้ให้จำเลยรับรองและรับผิดชอบจะคืนให้ กรณีจึงมีความหมายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
อนึ่ง ตามหลักฐานการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในวันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งก็คือวันที่ 31 ธันวาคม 2537เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 จึงไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา1,200 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2